กลุ่มวิสาหกิจมันสำปะหลังโคราชเดือดร้อนหนัก เอลนีโญทำอากาศร้อนจัดฝนตกน้อย ต้นพันธุ์เปื่อยไม่งอก
ตามที่อุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะเริ่มส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกลงมาน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงหน้าฝน ในขณะเดียวกันโครงการชลประทานนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์น้ำเก็บกักในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า ปริมาณน้ำเหลือค่อนข้างน้อย แต่ยังไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง และยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการน้ำให้ผ่านหน้าแล้งนี้ไปได้ ซึ่ง 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ,อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ,อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี
วันนี้ (16 สิงหาคม 2566) มีปริมาตรน้ำเก็บกักรวมเหลืออยู่ที่ 352.69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.83% และเป็นน้ำใช้การได้ 315.25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.17 % เท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกักรวม เหลืออยู่ที่ 126.74 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.26 % และเป็นน้ำใช้การได้ 101.70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 33.21 % เท่านั้น รวมปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 27 แห่ง
มีปริมาตรน้ำเก็บกักรวม อยู่ที่ 479.43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 39.40 % และเป็นน้ำใช้การได้ 416.95 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.12 % เท่านั้น จึงแจ้งเตือนประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อเก็บสำรองน้ำไว้อุปโภค-บริโภคเป็นหลัก ส่วนภาคการเกษตรในเขตชลประทานจะจ่ายน้ำให้ตามแผน แต่พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน ให้อาศัยน้ำฝนเพาะปลูกในช่วงนี้
ซึ่งสภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าว ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และคาดว่าจะขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น โดยนายบรรจบ เข็มทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมันสำปะหลังตำบลสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ได้เปิดเผยว่า ตอนนี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเริ่มได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญกันบ้างแล้ว อย่างกรณีของตน ในปีนี้ลงทุนปลูกมันสำปะหลังบนพื้นที่ 80 ไร่ไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ต้นพันธุ์ไม่ค่อยงอกเพราะขาดน้ำ ต้องลงทุนหาซื้อต้นพันธุ์มาปลูกใหม่ในรอบที่ 2 เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ยังลุ้นว่าจะรอดหรือไม่ เพราะพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังใน ต.สุรนารี
ต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติและไม่มีน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่งมาช่วย เมื่อฝนไม่ตก บวกกับสภาพอากาศร้อนจัด ต้นพันธุ์มันฯ ที่ปลูกไว้จะเปื่อย ทำให้ไม่งอก เพราะไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยง รอบแรกจึงได้รับความเสียหายทั้งหมด ต้องลงทุนปลูกใหม่เป็นรอบที่ 2
ส่วนสมาชิก 93 รายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมันสำปะหลังตำบลสุรนารี รวมพื้นที่ปลูก 2,000 ไร่ กำลังประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน อีกทั้งยังเจอปัญหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังราคาแพงมาก ปกติเคยซื้อต้นพันธุ์มาตันละ 500 บาท แต่ตอนนี้ขายอยู่ที่ต้นละ 5-10 บาท เกษตรกรหลายรายไม่สามารถหาเงินไปลงทุนซื้อท่อนพันธุ์มันมาปลูกใหม่ได้ จำใจปล่อยไร่มันฯ ทิ้งร้างเอาไว้ ซึ่งสาเหตุที่ต้นพันธุ์มันพุ่งสูง เพราะสภาพอากาศแปรปรวน ปีที่แล้วฝนตกหนักทำให้มันเน่า พอมาปีนี้กลับเจออากาศแล้ง ท่อนพันธุ์ไม่สามารถจะปลูกและเจริญงอกงามได้
แถมยังเป็นโรคใบหงิกใบงอ-ใบด่างด้วย จึงไม่สามารถนำไปทำท่อนพันธุ์ไว้เพาะปลูกได้ ต้องซื้อจากแหล่งอื่น มีเพียงเกษตรกรไม่กี่รายเท่านั้น ที่พอจะมีเงินทุนและมีสระกักเก็บน้ำในไร่มันฯ หรือขุดเจาะบ่อบาดาลดึงน้ำใต้ดินมาใช้ จึงสามารถลงทุนปลูกมันฯ รอบที่ 2 ได้ จะหวังรอให้รัฐบาลมาช่วยก็คงยาก
ปกติผลผลิตมันสำปะหลังของกลุ่มวิสาหกิจฯ จะได้เฉลี่ยประมาณ 3 ตันต่อไร่ ถ้ามีน้ำฝนหล่อเลี้ยงจะแตกหัวรอบกอ ประมาณ 10 กว่าหัว แต่มาเจอฝนทิ้งช่วง ขาดน้ำ มันสำปะหลังจะไม่ค่อยแตกหัว จะเหลือแค่ประมาณ 3-4 หัวเท่านั้น และที่แตกออกมาก็ไม่สมบูรณ์ ถ้าได้ผลผลิต 1 ตันต่อไร่ก็ถือว่าโชคดีแล้ว เมื่อก่อนจะมีโครงการประกันรายได้ฯ มาช่วยพยุงราคา
แต่ตอนนี้ราคารับซื้อมันฯ ค่อนข้างดี พุ่งสูงถึง 3.50 – 3.80 บาท แต่เกษตรกรกลับไม่มีมันฯ ไปขายเพราะมาประสบปัญหาดังกล่าว ตนเคยรายงานปัญหาให้ทางเกษตรอำเภอทราบแล้ว ทั้งเรื่องการขาดแคลนท่อนพันธุ์ ขาดแคลนน้ำ โรคพืชระบาด เป็นต้น แต่ก็เงียบไม่มีการตอบรับกลับมา จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาสำรวจตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเพื่อให้ความช่วยเหลือ และจะได้รู้สภาพปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews