โคราชเริ่มแย่ ค่าฝุ่น PM2.5 บางจุดพุ่งอันดับ 3 ของประเทศ สิ่งแวดล้อมและควบคุมโรค ขอความร่วมมือ ปชช. ลดฝุ่นและป้องกันตนเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ฝุ่นมลพิษในอากาศวันนี้(15 ธันวาคม 2566 ) ของจังหวัดนครราชสีมา
จากการตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศ ที่ สถานีสูบน้ำประตูพลแสน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ผ่านแอพพลิเคชัน Air4Thai พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง โดยดัชนีคุณภาพอากาศ ตรวจวัดได้ 79 AQI (Air Quality Index) ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 ตรวจวัดได้ 32.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่เกินมาตรฐาน ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ แต่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคือง ตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ในขณะที่การตรวจวัดคุณภาพอากาศผ่านแอพพลิเคชั่น IQAir พบว่า บริเวณชานเมืองของจังหวัดนครราชสีมา ดัชนีคุณภาพ อยู่ที่ 77 AQI สหรัฐ แต่ถ้าตรวจวัดในเขตตัวเมืองนครราชสีมาหลายจุด พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ พุ่งสูงถึง 140-143 AQI สหรัฐ ซึ่งวานนี้ (14 ธันวาคม 2566) เพจเชียงใหม่นิวส์ Chiang Mai News ได้โพสต์เมืองที่อากาศแย่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอำเภอเมืองงนครราชสีมา ติดอันดับ 3 ของประเทศ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ อยู่ที่ 141 AQI สหรัฐ รองจากอำเภอหางดง และ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งแม้ว่าการตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศผ่านแอพพลิเคชั่นทั้งสองแอพฯ จะตรวจวัดได้แตกต่างกัน แต่นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันลดฝุ่นมลพิษทางอากาศ ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา รณรงค์ป้องกันในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าฝุ่นมลพิษพุ่งสูงมาจากปัจจัยการเผาในที่โล่งแจ้งมากสุด ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ป่า หรือการเผาในพื้นที่ป่าไม้-พื้นที่เกษตร ที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นทันที จึงต้องรณรงค์งดเผากันอย่างเข้มข้น ใช้มาตรการทางกฎหมายมาบังคับลงโทษผู้ลักลอบเผา
ส่วนด้านปัญหาสุขภาพของประชาชน นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และ 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกายและ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง จะต้องเฝ้าระวังดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไปได้
จึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 โดยลดการก่อมลพิษและลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น อย่าใช้รถยนต์ที่มีควันดำ ลดการเผาขยะหรือเผาในที่โล่งแจ้ง ดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น หากไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่หากจำเป็นควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น สวมหน้ากาก แว่นตา เสื้อแขนยาว และดื่มน้ำเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ แสบคอ เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news