สสจ.โคราช เผย สถานการณ์โควิด19 อยู่ในเกณฑ์รุนแรงน้อย ไม่วิกฤต ครึ่งเดือนแรกปี 67 พบผู้ป่วยสะสม 1,500 กว่าราย
วันนี้ (19 มกราคม 2567) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โดยนายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดเผยผลการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดนครราชสีมา ว่า ได้มีการรายงานผลต่อที่ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้รับทราบแล้ว โดยข้อมูลอัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 1 วันที่ 7-13 มกราคม 2567 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 625 คน หรือเฉลี่ยวันละ 89 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีอาการปอดอักเสบ 177 คน และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 125 คน ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่ในช่วงดังกล่าว มีจำนวน 7 คน หรือเฉลี่ยวันละ 1 คน
ในขณะที่จังหวัดนครราชสีมา ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาตลอดทั้งปี มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด จำนวน 16,044 คน และเสียชีวิต 12 คน และในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 -16 มกราคม 2567 มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 1,586 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งในรอบสัปดาห์ วันที่ 10-16 มกราคม 2567 พบผู้ป่วยรายใหม่ 742 คน หรือเฉลี่ยวันละ 106 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 61 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมยอดสะสม อยู่ที่ 111 คน โดยรักษาหายแล้ว 76 คน และยังรักษาอยู่ 35 คน ซึ่งเมื่อประเมินสถานการณ์แล้วอยู่ในเกณฑ์ “รุนแรงน้อย” มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ โดยจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทั้งหมด 1,018 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ 177 เตียง เป็นผู้ป่วยเคสสีแดงอาการรุนแรง 26 เตียง ,เคสสีเหลือง อาการปานกลาง 92 เตียง และเคสสีเขียว อาการน้อยหรือไม่มีอาการ 59 เตียง เหลือเตียงว่างอยู่ 841 เตียง และมีทีมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ CDCU คอยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 636 คน,มีทีมปฏิบัติการเชิงรุก CCRT 98 ทีม , มีหน่วยบริการของภาครัฐและเอกชนที่มียาต้านไวรัส จำนวน 51 แห่ง และจำนวนยาต้านไวรัสแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็น Favipiravir , Molnupiravir , Remdesivir รวมทั้ง Long acting antibody (LAAB) มีสต๊อกยารักษาโควิดในคลังยาอย่างเพียงพอ ประชาชนจึงสามารถมั่นใจได้ว่า ทางจังหวัดมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในเฝ้าระวังและรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด19
อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดฯ ยังต้องดำเนินการด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมโรค และด้านการแพทย์และรักษาพยาบาลกันอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยขอความร่วมมือประชาชนไปฉีดวัคซีนโควิด เข็มกระตุ้น รวมทั้ง ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หากติดเชื้อให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา ในขณะที่สถนประกอบกิจการ ให้ดำเนินมาตรการ Covid Free Setting นอกจากนี้ แต่ละพื้นที่ยังต้องเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มประชากรพิเศษ เช่น แรงงานต่างด้าว เรือนจำ โรงเรียน ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขให้เตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ รวมทั้ง พัฒนาระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคโควิด 19 ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเตรียมความพร้อมมาตรการรักษาพยาบาลให้เพียงพอตามมาตรฐาน ทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่มีอาการ , กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง , กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบหรือมีอัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง แต่ยังไม่ต้องห้ออกซิเจน และกลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบที่ต้องให้ออกซิเจนทุกชนิด ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ขอให้แอดมิทส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทุกราย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews