โคราชเตรียมเฮอุตุฯ คาดมีพายุฝน22-26มิย.เติมน้ำเข้าเขื่อน
ชลประทานโคราชเตรียมเฮ อุตุฯ คาดพายุฝนจะเทลงมาช่วง 22-26 มิ.ย.นี้ อ่างเก็บน้ำโคราช 27 แห่ง รอคอยความหวัง หลังแล้งฝนทิ้งช่วงติดต่อกันนาน
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 (21 / 2567) เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีผลกระทบในช่วงวันที่ 22-26 มิถุนายน 2567) โดยมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีแนวร่อมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉีงเหนือ
ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยจังหวัดที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
โดยที่จังหวัดนครราชสีมา วันนี้พยากรณ์ว่า มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างรู้สึกดีใจที่จะมีฝนตกลงมาในพื้นที่เพราะเข้าสู่ฤดูฝนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ฝนกลับไม่ตก ทิ้งช่วงนานหลายสัปดาห์ ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในสระน้ำดิบผลิตประปาของแต่ละหมู่บ้าน รวมทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่งของจังหวัด
ลดระดับลงอย่างรวดเร็วเพราะช่วงกลางวันสภาพอากาศร้อนจัด มีการใช้น้ำมากขึ้น แต่ไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำลงในแหล่งกักเก็บน้ำนานหลายสัปดาห์ ประชาชนจึงรู้สึกกังวลว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในขณะที่ภาคการเกษตรยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยชาวนาที่ลงมือ เพาะปลูกข้าวนาปีแล้ว เริ่มขาดแคลนน้ำทำการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านและนาข้าวที่อยู่นอกเขตชลประทาน หลายพื้นที่ต้องปล่อยให้ต้นกล้าที่เพิ่งงอกไม่นาน เหี่ยวเฉา เพราะไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยง แต่เมื่อทราบข่าวประกาศจากของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงรู้สึกดีใจอย่างมากที่จะมีฝนตกลงมาช่วยเติมน้ำลงในแหล่งกักเก็บน้ำและในพื้นที่การเกษตร
ซึ่งโครงการชลประทานนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมาว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมเหลือ 327.16 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.95 % แต่เป็นน้ำใช้การได้แค่ 289.72 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.16 % เท่านั้น โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ต้องส่งจ่ายน้ำไปให้5 อำเภอ เพื่อใช้ผลิตผลิตประปาแจกจ่ายให้กับประชากรได้อุปโภค-บริโภค แต่กลับเหลือน้ำน้อยสุด
โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 90.36 ล้านลูกบาศก์เมตรของความจุกักเก็บ หรือ 28.73 % เท่านั้น และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 67.64 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.18 % ในขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เหลือน้ำมากสุด 83.21 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53.69 % และเป็นน้ำใช้การได้ 82.49 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53.47 % ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน เหลือน้ำ 55.12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.09 % เป็นน้ำใช้การได้ 48.12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35.91 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือน้ำ 98.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35.80 % และเป็นน้ำใช้การได้ 91.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.13 %
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง เหลือปริมาณน้ำเก็บกักรวม อยู่ที่ 138.16 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 41.20 % และเป็นน้ำใช้การได้ 112.78 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.39 % ดังนั้น ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมเหลือล่าสุด อยู่ที่ 465.32 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.12 % และเป็นน้ำใช้การได้ 402.50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.76 % ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ชลประทานยังเฝ้าติดตามการพยากรณ์ลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยากันอย่างใกล้ชิด เพื่อต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม เพื่อส่งจ่ายน้ำให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อน้ำสำหรับการบริโภค-อุปโภค
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews