Home
|
ภูมิภาค

สร้างอัตลักษณ์ส่งเสริมคุณภาพของทุเรียนยะลา

Featured Image
ภาครัฐห่วงใย เกษตรกรชายแดนใต้ จับมือหลายภาคส่วน สร้างอัตลักษณ์เฉพาะ และคุณภาพของทุเรียนยะลา ให้เป็นที่ยอมรับต่อผู้บริโภค

 

 

 

ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดยะลา ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายกัสมัน ยะมาแล เกษตรจังหวัดยะลาเกษตร ร่วมแถลงข่าว จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองผลไม้และไม้เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์การค้าของผลไม้ในพื้นที่ นายปิยะศิริ กล่าวว่า มูลค่าการค้าผลไม้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2567 นี้

 

 

 

น่าจะมีประมาณ 14,877 ล้านบาท เมื่อคิดเฉพาะมูลค่าทุเรียนก็น่าจะประมาณ 13,490 ล้านบาท (90.68%) และหากรวมไปถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในตลอดห่วงโซ่ที่ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ที่พัก ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารแล้วมากกกว่านั้นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีตลาดผลไม้ชั่วคราวที่สำคัญคือ ตลาดผลไม้ อบจ.ยะลา ซึ่งในช่วงฤดูเกี่ยวผลไม้ คือ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากทั่วประเทศที่เข้ามารับซื้อทุเรียนที่นี้ ล้งต่างๆ ในพื้นที่ก็จะเปิดรับซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้บริเวณสี่แยกมลายูบางกอกมีผู้คนตลอดทั้งคืน รวมถึงมีเกษตรกรจากทุกพื้นที่ก็ยังนำผลผลิตมาขายที่นี้ด้วย

 

สำหรับเมืองผลไม้และไม้เศรษฐกิจในปีนี้ ศอ.บต. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองผลไม้และไม้เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาด และการส่งออกผลไม้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ซึ่งการดำเนินงานในพื้นที่ต้องมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนและให้เกิดการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

การสนับสนุนการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ ศอ.บต. พร้อมเป็นข้อต่อเชื่อมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการภาคเอกชน ในการพัฒนายกระดับการผลิตทุเรียนและการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ก็ยังรวมไปถึงผลไม้อื่นอีกด้วย

 

 

 

ด้าน นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนว่า กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการกรอง 4 ชั้น ที่กำหนดโดยกรมวิชาการเกษตรในปี 2566 และยังถือใช้ต่อเนื่องในพื้นที่เสี่ยงระบาดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในปี 2567 โดยมาตรการกรอง 4 ชั้น จะช่วยในการคัดผลผลิตที่มีคุณภาพลดการปนเปื้อนหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนออกจากระบบการส่งออกทุเรียน ไปยังประเทศคู่ค้า สามารถสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือในสินค้าทุเรียนของประเทศไทยต่อประเทศคู่ค้า ได้อย่างดีและมีการนำผลผลิตที่ปนเปื้อนไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปต่อไป

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube