Home
|
ภูมิภาค

เอกชน แนะ เกษตรกรลำไยวิธีการปลูกให้ได้คุณภาพ

Featured Image

 

 

เชียงใหม่ ภาคเอกชนส่งออกแนะเกษตรกรลำไยเปลี่ยนวิธีการปลูกให้ได้คุณภาพ

 

 

นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยมรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความชำนาญในธุรกิจส่งออกลำไยมากกว่า 10 ปี เริ่มต้นก่อตั้งโรงงานลำไยสดแห่งแรกที่ อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ เพื่อขยายตลาดการส่งออกและตอบรับความต้องการที่สูงขึ้นจากตลาดต่างประเทศ จากนั้นขยายโรงงานเพิ่มเติมที่อำเภอป่าซาง ลำพูน อำเภอสอยดาว จันทบุรี และล่าสุดคือที่สระแก้วเพิ่งเปิดเมื่อปลายปี 2566 โดยปัจจุบันมีปริมาณการส่งออกลำไยสดและลำไยแกะเม็ดแช่แข็ง รวมปีละกว่า 20,000 ตัน ตลาดหลักในการส่งออก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย และตลาดล่าสุดที่เข้าไป คือ อินเดีย โดยจะเห็นได้ว่าแต่ละตลาดที่แพลททินัม ฟรุ๊ต เข้าไปเป็นตลาดที่มีจำนวนประชากรสูง ซึ่งจะสัมพันธ์ไปกับปริมาณการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

“ประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถปลูกและส่งออกลำไยได้ และเชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตที่เปิดกว้างอยู่มากหากนำสินค้าเข้าไปถูกตลาด โดยเฉพาะลำไยสดช่อคุณภาพเกรด AA และ A ที่แพลททินัม ฟรุ๊ต นำไปเจาะตลาดระดับบนของกลุ่มที่มีกำลังซื้อในแต่ละประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดค่านิยม เกิดความต้องการอยากกินสินค้าของเรากระจายไปในวงกว้าง หากการที่จะทำได้นั้นสินค้าเราต้องดีจริง ต้องพรีเมียมจริง ซึ่งตรงนี้เรามั่นใจ เพราะผลไม้ของแพลททินัม ฟรุ๊ตจะต้องผ่าน Global standard ตั้งแต่การคัดเลือกผลไม้จากสวนที่ได้มาตรฐาน GAP และ Global GAP ผ่านการผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐานการผลิต อาทิ HACCP, GMP, GHP, DOA, และ Halal พร้อมบริการขนส่งที่มีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อรักษาความสดทุกลูก” นายณธกฤษ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทฯ อยู่ในธุรกิจส่งออกลำไยมานาน ทำให้ทราบว่าวิถีของชาวสวนลำไยทางภาคเหนือจะยังปลูกตามวิถีดั้งเดิมไม่ได้มีการจัดระบบในเชิงอุตสาหกรรม ต่างจากทางจันทบุรีที่มีการจัดระบบสวน บริหารจัดการน้ำ คำนวณการให้ปุ๋ย ให้ยาที่ถูกจังหวะ จึงมีแนวคิดที่จะพาชาวสวนลำไยภาคเหนือไปดูงานที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ให้เห็นวิถีการทำลำไยเชิงอุตสาหกรรม ว่ามีกระบวนการขั้นตอนแบบใดเพื่อจะทำให้ได้ผลผลิตตามคุณภาพการส่งออก (Global GAP) รวมถึงเรียนรู้วิธีการเก็บเกี่ยวลำไยให้ได้ราคาดี และความสำคัญของวินัยการเงินอีกพื้นฐานจำเป็นสำหรับชาวสวนยุคใหม่ เพื่อนำองค์ความรู้ แนวทางปฏิบัติไปยกระดับคุณภาพสวนลำไยของตนเองเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น และผลิตได้ตามมาตรฐานส่งออก

 

 

 

โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีชาวสวนสนใจเข้ามาร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงนำมาสู่การพัฒนาความร่วมมือกับชาวสวนลำไยอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการระยะสองหลังจากพัฒนาโมเดลนี้บนพื้นที่จำนวน 150 ไร่ในจังหวัดลำพูน เพื่อนำร่องความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพลำไยให้สามารถส่งออกได้ตลอดทั้งปี ซึ่งบริษัทฯ มีตลาดใหญ่รองรับผลผลิตถึง 3 ตลาดได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และ อินเดีย

“การที่เราจะได้ผลไม้คุณภาพที่ดีไปสู่ปลายทาง หมายถึง ต้นทางต้องดี นั่นคือ “เกษตรกร” ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราทำคือ เข้าไปเติมความรู้ให้กับชาวสวนเพื่อพัฒนาลำไยให้ได้คุณภาพตาม “มาตรฐาน” ความต้องการของผู้บริโภค โดยทั้งหมดนี้ที่ทำไปเราไม่ได้มุ่งเน้นแค่ในเชิงธุรกิจ แต่ต้องการดูแลเกษตรกรให้เติบโตยั่งยืนไปด้วยกันทั้งระบบ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาคุณภาพลำไยให้ได้เกรด AA และ A จะเป็นจุดสำคัญสุดในการช่วยชาวสวนลำไยภาคเหนือให้หลุดพ้นจากปัญหาวงจรราคาได้อย่างยั่งยืน” CEO แพลททินัม ฟรุ๊ต กล่าวเสริม

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube