Home
|
ภูมิภาค

ระวัง!ปี67 คนจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 513 ราย

Featured Image
ควบคุมโรค เผย ปี 67 มีผู้ประสบเหตุจมน้ำเสียชีวิต มากถึง 513 ราย จาก 575 เหตุการณ์ ขณะที่โคราช มีเหตุตกน้ำ-จมน้ำ 20 ครั้ง และเสียชีวิต 19 ราย

 

 

 

 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝน อาจมีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึง แหล่งน้ำต่างๆ จะมีระดับน้ำค่อนข้างสูงและน้ำไหลเชี่ยว จึงเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันประสบอันตรายจากการพลาดตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ออกหาปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ และผู้ที่ไปเล่นน้ำพักผ่อนตามแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า การจมน้ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3

 

 

จากสาเหตุการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (unintentional injury) โดยแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 236,000 คน และสำหรับประเทศไทย การจมน้ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุขนส่งทางบก และการมีเจตนาทำร้ายตนเอง ทั้งนี้ จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 – 2565) คนไทยเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3,640 คน หรือเฉลี่ยวันละกว่า 10 คน ทางสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) จึงขอให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก รณรงค์ประชาชนและทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการจมน้ำ กับร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการจมน้ำ

 

 

และล่าสุด ข้อมูลการเฝ้าระวังการจมน้ำของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์การจมน้ำในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 พบว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 575 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 513 ราย โดยสถานการณ์การตกน้ำ จมน้ำ ในเขตสุขภาพสุขภาพที่ 9 ปี 2567 มีเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำ ทั้งสิ้น 20 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 19 ราย

 

 

 

เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา เกิดเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำ มากสุด จำนวน 9 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 8 ราย รองลงมาคือ จังหวัดสุรินทร์ เกิดเหตุการณ์ 7 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7 ราย , จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดเหตุการณ์ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และ จังหวัดชัยภูมิ เกิดเหตุการณ์ 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของเขตสุขภาพที่ 9 คือ กลุ่มอายุ 0-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-29 ปี และ กลุ่มอายุ 30-44 ปี ตามลำดับ

 

 

ดังนั้น ขอให้ประชาชนได้ตระหนักเห็นความสำคัญและรู้จักป้องกันตนเอง ดูแลบุตรหลาน และคนในครอบครัวอย่างถูกต้อง โดยยึดหลักป้องกันการจมน้ำ ด้วยมาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ประกอบด้วย 1) ตะโกน คือ เรียกให้คนมาช่วย ขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือ รพ.ใกล้เคียง 2) โยน คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว

 

 

เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ และ 3) ยื่น คือการยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ต้องรีบแจ้งสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube