ฉีดวัคซีนปูพรมพื้นที่ระบาดกทม.-ปริมณฑล
คณะอนุฯวัคซีนโควิด19 มีมติปรับแผนการกระจายวัคซีน ใช้กลยุทธ์ ฉีดวัคซีน ปูพรมในพื้นที่กทม. และปริมณฑล – เดินหน้าฉีดเชิงรุก นอก รพ.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 และนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 ในการปรับแผนการ ฉีดวัคซีน โควิด 19 ของประเทศไทย
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกคนในประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด 19 ตามความสมัครใจ ซึ่งประชากรทั้งคนไทยและต่างชาติในประเทศไทยมีประมาณ 70 ล้านคน การรับวัคซีนครอบคลุมให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คือ ร้อยละ 70 ของประชากร เท่ากับประมาณ 50 ล้านคน โดยใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดในขณะนี้ยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก
ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติเห็นชอบการปรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด 19 ด้วยกลยุทธ์ “ฉีดปูพรม” (Mass Vaccination) ในพื้นที่ระบาด นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฉีดเชิงรุกนอกโรงพยาบาล ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เสนอให้ใช้พื้นที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ซึ่งมีความกว้างขวางและรองรับคนได้จำนวนมาก รวมถึงการให้ประชาชนสามารถเดินมารับวัคซีนได้
นพ.โสภณ กล่าวว่า กลยุทธ์การปูพรมฉีดวัคซีนใน กทม.และปริมณฑล จะมีทั้งวัคซีนของซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 2.5 ล้านโดส และวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่คาดว่าจะส่งมอบช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ อีก 1.7 ล้านโดส โดยในส่วนของ กทม. ตั้งเป้าจะฉีดให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร คือ 5 ล้านคน ภายใน 2 เดือน โดยฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ เร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดโดยเพิ่มจุดบริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์การประชุม หรือศูนย์การค้า เป้าหมายฉีดให้ได้ 1 แสนโดสต่อวัน
“อนุทิน” ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโรงพยาบาลบุษราคัม ก่อนเปิดบริการ 14 พ.ค.นี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ก่อนเปิดให้บริการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ติดเชื้อทุกคนได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ และเป็นการช่วยให้โรงพยาบาลในเขต กทม. มีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดงได้อย่างเต็มที่ เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 และจะเปิดให้บริการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เบื้องต้นรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1,200 คน สามารถเพิ่มเตียงได้ 3,000 – 5,000 เตียง รองรับผู้ป่วยสีเหลือง ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง
ทั้งจากในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสายด่วนต่างๆ จากกทม. และปริมณฑล ให้การดูแลผู้ป่วยครบวงจร ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยระดมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ จาก 60 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดน้อยมาหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ รวม 780 คน แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสละ 260 คน และใช้ทรัพยากร ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์จากเขตสุขภาพที่ 4 การจัดพื้นที่ในเฟสแรกสำหรับผู้ติดเชื้อในอาคารชาเลนเจอร์ 3 แบ่งเป็น 4 โซน ดังนี้ โซน A จำนวน 270 เตียง, B จำนวน 242 เตียง, C จำนวน 290 เตียง และ D จำนวน 290 เตียง ขยายได้ถึง 1,200 เตียง
พร้อมติดตั้งท่อช่วยหายใจบริเวณหัวเตียงรองรับผู้ติดเชื้อสีเหลือง ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเรียบร้อยแล้ว และเช้าวันนี้ พล.อ.นเรนทร สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำกำลังพลพร้อมจิตอาสา 485 คน ร่วมกันประกอบเตียงกระดาษและเครื่องนอนที่ได้รับบริจาค จำนวน 1,200 เตียง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศ ติดตั้งตู้ไอซียูความดันลบ จำนวน 100 ตู้ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ติดตั้งห้องอาบน้ำพร้อมอุปกรณ์ ที่ได้รับบริจาคจำนวน 364 ห้อง มีอุปกรณ์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีในอากาศ ในห้องและบนพื้นผิวสำหรับห้องน้ำ
นอกจากนี้ มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ภายนอก การบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะติดเชื้อ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ช่วยดูแลจัดการการเข้า-ออกพื้นที่ และระบบดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้ว่าฯอัศวิน เผย หลาย cluster มีแนวโน้มควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงสกัดการแพร่ระบาด
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีหลายกลุ่มก้อน (cluster) แต่มีหลาย cluster ที่มีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ ได้แก่ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค สำหรับ cluster อื่น กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งควบคุมสถานการณ์ การแพร่ระบาด
โดยเฉพาะชุมชนแออัดในเขตคลองเตย อยู่ระหว่างเร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Swab) ในตลาดคลองเตย ซึ่งมีประชาชนพักอาศัยหรือประกอบอาชีพ ประมาณ 6,000-7,000 คน ทั้งนี้ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่ผู้ที่ผล Swab ไม่พบเชื้อ และการฉีดวัคซีนในพื้นที่เขตคลองเตย 3 จุดเดิม ได้แก่ โรงเรียนวัดคลองเตย โลตัสพระราม 4 และโกดังการท่าเรือ ยังคงดำเนินการเช่นเดิม เพื่อเร่งค้นหาและแยกผู้ติดเชื้อ รวมทั้งเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้ประสานสภาหอการค้าไทยจัดจุดบริการฉีดวัคซีนจำนวน 14 จุดนั้น ภายในสัปดาห์นี้จะทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ วันที่ 12 พ.ค. 64 บริเวณชั้น 3 sky Hall ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร วันที่ 13 พ.ค. 64 บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน และวันที่ 14 พ.ค. 64 บริเวณชั้น 4 MCC HALL เดอะมอลล์ บางกะปิ
โดยผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำนักอนามัยพิจารณาว่า เป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยง ได้แก่ พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง พนักงานขับแท็กซี่ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) พนักงานขับเรือ และครู เป็นต้น ทั้งนี้สำนักอนามัย ได้ประสานหน่วยงานต้นสังกัดของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด สำหรับประชาชนทั่วไปจะให้บริการฉีดวัคซีนในโอกาสต่อไปเมื่อกรุงเทพมหานครได้รับมีวัคซีนจำนวนมากพอ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news