Home
|
ทั่วไป

นายกฯเผยฉีดวัคซีนแบบWalk in เริ่มมิ.ย.นี้

Featured Image
นายกฯ เผย ฉีดวัคซีน แบบ Walk in จะเริ่มมิ.ย.หากมีเพียงพอ ย้ำลงทะเบียนหมอพร้อมแน่นอนสุด – “อนุทิน”ตรวจ รพ.บุษราคัม ก่อนเปิดทางการพรุ่งนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมการให้บริการ ฉีดวัคซีน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ และหน่วยความร่วมมือบริการวัคซีนโควิด 19 กรุงเทพมหานคร – สภาหอการค้าไทย – โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ – สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 25 แห่งของสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายกฯ-เยี่ยมจุด-ฉีดวัคซีน-13-5-64-3

 

ว่า สถานบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล จะเพิ่มจาก 14 จุดเป็น 25 จุด ขึ้นอยู่กับวัคซีนที่เข้ามา ขอให้เข้าใจว่าการให้บริการวันนี้เป็นการจัดลำดับความเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้รัฐบาลให้บริการกับภาคอุตสาหกรรมด้วย เพราะเป็นแหล่งจ้างงาน แรงงาน มีผลิตภัณฑ์ส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ที่วันนี้ต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดในโรงงานต่าง ๆ ขอบคุณเจ้าของโรงงานที่มีมาตรการเข้มแข็ง ทุกที่มีโอกาส ไม่มีใครอยากให้เกิด ฉะนั้นเมื่อเกิดแล้วก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไปด้วยความร่วมมือของทุกคน

 

นายกฯ-เยี่ยมจุด-ฉีดวัคซีน-13-5-64--2

 

นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า รัฐบาลมีแผนงานในเปิดการฉีดวัคซีนแบบ Walk in ถ้าวัคซีนมีเพียงพอในแต่ละวันมีวัคซีนสำรอง ที่เหลือจากคนที่ไม่ได้มาฉีดอยู่บ้าง พร้อมให้ความมั่นใจว่าทุกคนได้ฉีดแน่ ๆ จะช้าหรือเร็วก็มีบ้าง

 

นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ชี้แจงความชัดเจนในการให้บริการฉีดวัคซีนแบบ Walk in ให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมการในช่วงเดือนมิถุนายนถ้ามีวัคซีนเพียงพอ โดยจะต้องมีการรวมอยู่ในระบบหมอพร้อมด้วย

 

 

อนุทิน-11-5-64 ฉีดวัคซีน

 

“อนุทิน” เผย นโยบาย “วอล์คอิน” รับวัคซีน ต้องตั้งอยู่บนความปลอดภัย ยันสัปดาห์หน้าพร้อมกระจายวัคซีน 1.5 ล้านโดส

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายให้ประชาชนสามารถเข้ามารับวัคซีนนอกสถานพยาบาล ตามจุดที่กำหนด หรือ “วอล์คอิน” ระบุว่า ล่าสุดทางกรมควบคุมโรคได้รับนโยบายไปแล้ว และเป็นเรื่องที่สมควรปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เข้าใจนโยบาย แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานคร การตัดสินใจ ต้องให้เป็นบทบาทของกรุงเทพฯ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมเดินหน้าบูรณาการช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ

สำหรับภาพรวมการรับมอบวัคซีนของประเทศไทย เดือนพฤษภาคม ไทยจะได้รับวัคซีนเข้ามารวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส เป็นส่วนของรัฐบาลจัดหา 3 ล้านโดส และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนอีก 5 แสนโดส วัคซีนเข้ามาแล้ว 1.5 ล้านโดส อยู่ระหว่างการพิจารณาเริ่องความปลอดภัย จะกระจายให้บริการประชาชนได้ในสัปดาห์หน้า และ ในช่วงปลายเดือนวัคซีนที่เหลือจะทยอยเข้ามา

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน จะเป็นเดือนสำคัญ เพราะไทยจะให้บริการวัคซีนของแอสตร้าเซนเนกา ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งผู้ผลิตแจ้งว่าวัคซีนที่ผลิตในไทยนั้น ได้มาตรฐานระดับสากล และไทยจะได้รับวัคซีนตามสัญญา หวังว่าพี่น้องประชาชนจะมั่นใจในการรับบริการ เพราะวัคซีน ถือเป็นส่วนสำคัญมากในการควบคุมโรค

ส่วนวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้มีการหารือมาตลอด อาทิ ไฟเซอร์ ขณะนี้ ทางไทยกำหนดความต้องการไปแล้วประมาณ 10-20 ล้านโดส ทางผู้ผลิตยืนยันว่า จัดหาได้ แต่ต้องส่งในครึ่งปีหลัง โดยการหารือยังเดินหน้าต่อไป ขอย้ำว่า วัคซีนหลักของไทย ยังเป็นแอสต้ราเซนเนกา แต่การได้วัคซีนยี่ห้ออื่นมาเสริม ย่อมเป็นเรื่องดี การจัดหาวัคซีน มันต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายข้อ และต้องติดตามข้อมูลกันตลอด เพื่อวางแผนการจัดหาอย่างเหมาะสม

 

อนุทิน ตรวจความพร้อม รพ.บุษราคัม

“อนุทิน” ตรวจความพร้อม รพ.บุษราคัม เมืองทองธานี เชื่อหากไม่มีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 2-3 สัปดาห์ สถานการณ์ดีขึ้น ขณะนายกฯ เปิดทางการพรุ่งนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเดินทางเข้าตรวจความพร้อม รพ.บุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข ที่เมืองทองธานี ทั้งเตียงผู้ป่วย ระบบการติดตั้งส่วนต่างๆ ซึ่งได้มีการระดมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ คอยหมุนเวียนมาช่วยกันดูแลผู้ป่วย ถือเป็นความทุ่มเทและการเสียสละ

โดยในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (14 พค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางมาตรวจความพร้อมและเปิดการปฏิบัติการ ก่อนที่ในช่วงบ่าย จะเริ่มเปิดรองรับผู้ป่วยเข้ามา เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จึงควรย้ายให้ผู้ป่วยมาพักฟื้นในสถานที่ ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยทำงานร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร ในการส่งตัวผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางขึ้นไปจนถึงอาการก่อนสีแดง และหากมีอาการสีแดง ก็จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายทันที โดยในเฟส 1 มีการเตรียมพื้นที่สำรองเตียงไว้ 1,092 เตียง และเตรียมพื้นที่ไว้ แต่ไม่อยากขยายให้ถึง 5,000 เตียง เพราะเท่ากับว่าการแพร่ระบาดไม่ลดลง

ดังนั้น จึงไม่สายเกินไปที่ประชาชนจะให้ความร่วมมือ ปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ถ้าไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบุคลากรทางการแพทย์ก็จะได้ดูแลรักษาได้อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าว่า ผู้ปวยทุกคนที่มารักษา ต้องหายป่วยกลับบ้านได้ทั้งหมด ทั้งนี้ หากไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นคาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์สถานการณ์ก็จะดีขึ้น อีกอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ ก็จะมีวัคซีนเพิ่มเข้ามา จะถูกกระจายไป เชื่อว่า จะช่วยลดการติดเชื้อ ลดอาการป่วย จนทำให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด

ส่วนศูนย์แรกรับและส่งต่อ กระทรวงสาธารณสุข ที่อาคารกีฬานิมิบุตร ตั้งขึ้นมาสนับสนุนการทำงาน ในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ ที่คอยเก็บคนไข้ติดค้างที่บ้าน แล้วนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบวันนี้ พบว่า เตียงที่สำรองไว้ทั้งหมด 200 เตียง มีผู้ป่วยมาครองเตียง 130-150 คน แสดงให้เห็นถึง ระบบการส่งต่อค่อยไม่ดี เริ่มมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลได้ จึงต้องเร่งบริหารจัดการโดยเร็ว พร้อมย้ำ กระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อม ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดทุกคน

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเช่าพื้นที่ยาว 4-5 เดือน เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ พร้อมกำชับเรื่องอาหารการกินทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้กรมอนามัย เข้ามาบริหารจัดการเรื่องขยะด้วย

อนุทิน-รพ.บุษราคัม-2 ฉีดวัคซีน

สธ. ให้ อสม.เป็นต้นแบบฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เป็นตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเคาะประตูบ้านรณรงค์เชิญชวนลงทะเบียน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

โดยนายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับ อสม. เป็นกลุ่มแรกๆ เนื่องจากเป็นบุคลากรด่านหน้าที่มีความสำคัญ ลงพื้นที่ช่วยค้นหา เฝ้าระวังโรคในชุมชน และเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ได้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยให้ลดอาการรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิตได้ เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ระบบเศรษฐกิจประเทศกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง

จึงขอเชิญชวนให้อสม.ไปรับการฉีดวัคซีน พร้อมออกเคาะประตูรณรงค์เชิญชวนคนในชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำท้องถิ่น แกนนำชุมชน ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 ลงชื่อได้ทุกช่องทางที่สะดวก เช่น ไลน์/แอปพลิเคชัน หมอพร้อม, แอปพลิเคชั่น Smart อสม. หรือรวบรวมรายชื่อลงแบบฟอร์มของอสม. ส่งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว และรายชื่อที่นำส่งจะคีย์เข้าระบบส่วนกลาง กระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ต่อไป และขอชื่นชมจังหวัดลำปาง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นำร่องให้ อสม.ลงพื้นที่เข้าไปสำรวจข้อมูล เชิญชวนคนในชุมชนลงทะเบียนรับวัคซีนได้กว่า 3 แสนราย

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 อสม.ได้แนะนำประชาชนให้ลงทะเบียนวัคซีนโควิด 19 แล้วจำนวน 3,724,613 คน และมีอสม.ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 46,498 คน ได้รับครบทั้ง 2 เข็ม จำนวน 17,031 คน

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube