เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
เรื่องวัคซีนโควิด-19 หมอขอตอบ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การฉีดวัคซีนนับเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญ และเป็นความหวังในการที่จะตั้งรับต่อสู้ กับการระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย จะเริ่มฉีดวัคซีนระยะที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (ผู้ที่เกิดก่อน 2504) และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งทุกชนิด 6.โรคเบาหวาน และ7.โรคอ้วน โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย. – 31 ก.ค.64
คำถามเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งข่าวลือข่าวจริง สร้างความสับสนให้กับสังคม ซึ่งผู้ที่ให้คำตอบได้ชัดเจนและถูกต้องแน่นอน คงหนีไม่พ้นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อเร็วๆ นี้มีการเสวนาส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุคนไทยหัวใจฟู จัดโดยกลุ่มคนตัว D โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นกระบอกเสียงสุขภาวะ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน
นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบายปูพื้นฐานความรู้เรื่องวัคซีนว่า วัคซีนคือสิ่งที่จะมาช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆ และเราคุ้นเคยกับวัคซีนกันมาตั้งแต่เด็ก แม้กระทั่งเราเป็นพ่อเป็นแม่ เราก็พาลูกไปฉีดวัคซีน เพียงแต่ปกติเราไม่ได้รับรู้กระบวนการวิจัยพัฒนาวัคซีนมาก่อน หรือไม่รู้ที่มาที่ไปอย่างละเอียดเท่ากับวัคซีนโควิด-19 แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เรียนรู้เรื่องของวัคซีน เพื่อให้มีความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
นายแพทย์นคร กล่าวว่า ตัววัคซีนจุดประสงค์ก็เพื่อที่จะสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ที่จำเพาะกับโรคนั้นๆ เช่นถ้าเป็นโรคโควิด-19 ก็ต้องมีภูมิคุ้มกันจำเพาะของโรคโควิด-19 ดังนั้นการที่จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อโรคโควิด-19 ได้ ก็ต้องทำให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อ ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร หรือรู้ส่วนสำคัญของเชื้อที่จะเข้าสู่ร่างกายคือส่วนไหน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไปจัดการกับเชื้อตัวนั้น
“ปกติเราจะใช้เวลา 5-10 ปี ในการวิจัยพัฒนาวัคซีนขึ้นมา แต่วัคซีนโควิด-19 กลับใช้เวลาแค่ประมาณ 8 เดือนเท่านั้น ก็มีวัคซีนตัวแรกออกมา ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเร่งรัดการผลิตวัคซีนโควิดก็ห้ามข้ามขั้นตอน ต้องทำตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก” นายแพทย์นคร ระบุ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ยกตัวอย่างเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนกับการขับรถยนต์ว่า “เหมือนการคาดเข็มขัดนิรภัยตอนขับรถ ซึ่งทุกคนจะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรง และเสียชีวิตลดลงเหมือนกัน และถ้าในรถมีการป้องกันเสริมที่ดี เช่น มีถุงลมนิรภัย มีระบบเบรกที่ดี มีโครงสร้างของรถแข็งแรง ก็เหมือนเราสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างนั่นเอง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้โดยรวมแล้วเราจะปลอดภัย
แต่หากว่าปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตจากการขับรถ คือความเร็วและสิ่งที่ชนปะทะ ซึ่งถ้าขับมาเร็วแรง เมื่อชนอย่างแรง ก็มีโอกาสบาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิต ต่อให้มีอุปกรณ์ป้องกันดีขนาดไหน เช่นเดียวกับวัคซีน ถ้าฉีดแล้วแต่เราเข้าไปในสถานที่เสี่ยง มีเชื้อโควิดมาก อากาศไม่ถ่ายเท พบเชื้อได้บ่อย ขณะที่วัคซีนมีประสิทธิภาพเท่าเดิม แต่ถ้าเราเพิ่มความเสี่ยงตัวเองมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะป่วยโควิดได้เหมือนกัน”
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า
- แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ยังต้องคงมาตรการต่างๆ อย่าเพิ่งรู้สึกว่าปลอดภัยแล้ว เราต้องไม่ประมาท ต้องเข้าใจว่าวัคซีนเป็นมาตรการเสริม ใช้ควบคู่กับมาตรการควบคุมโรคส่วนบุคคล
- ผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เพราะต้องเข้าใจว่าวัคซีนที่เราฉีดตอนนี้ เน้นผลป้องกันการเจ็บป่วย แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าป้องกันการติดโควิด ดังนั้นแม้จะฉีดวัคซีนแล้วแต่ถ้ามีเชื้ออยู่ในร่างกาย ก็สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้
- จริงอยู่ว่าการฉีดวัคซีน เป็นความสมัครใจ แต่ถ้าเราอยากจะยุติการระบาดของโควิด ไปพร้อมๆ กัน เราต้องร่วมมือกันในการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับที่เราช่วยกันสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม
- ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ประเทศไทยจะถึงจุดที่ควบคุมได้ ไม่ต้องมาคอยกังวลกับการระบาดใหญ่ ผู้เสียชีวิตสูง โรงพยาบาลเต็ม เตียงไม่พอ ธุรกิจเปิดได้บ้างพอสมควร เศรษฐกิจหมุนเวียนไปได้บ้าง และกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับยามปกติ
ต้องยอมรับเวลานี้ว่าวัคซีนถือเป็นความหวัง ที่จะหยุดการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในการรับมือ คือการรักษาสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจให้แข็งแรง สสส. ได้จัดทำ “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน”
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคซีน ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์ และมีความรู้ที่เพียงพอในการตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน ดาวน์โหลดคู่มือ วัคซีนสู้โควิด (ฉบับประชาชน) ได้ที่ http://ssss.network/2uq08
ขอบคุณ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news