Home
|
ทั่วไป

ร้านนวด-ส.คราฟท์เบียร์ยื่นกทม.ขอเปิดกิจการ

Featured Image
ผู้ประกอบการร้านนวด และสมาคมคราฟท์เบียร์ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ขอให้ผ่อนปรนมาตรการ สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ

กลุ่มผู้ประกอบการคราฟเบียร์และกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดในเขตกรุงเทพฯ เดินทางมายื่นหนังสือและทวงถามคำตอบจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อขอผ่อนคลายการเปิดร้านคราฟเบียร์ และร้านนวดภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 เพราะเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน ที่กรุงเทพฯ มีนโยบายสั่งปิดกิจการและสถานที่เสี่ยง 31 แห่ง และยังไม่กำหนดว่าจะเปิดให้บริการได้อีกครั้งเมื่อไหร่ โดยมี น.ส.กาญจนา ภูพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ และชี้แจงว่าจะนำเรื่องประสานไปยังผู้ว่ากรุงเทพฯ คาดว่า ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. จะมีการแถลงในเวลา ประมาณ 18.00 น.

ร้านนวด-ส.คราฟท์เบียร์ยื่นกทม.ขอเปิดกิจการ

นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย เดินทางมาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถามความคืบหน้าว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการสั่งปิดกิจการ ให้สามารถกลับมาเปิดอีกครั้งได้ในเดือน มิ.ย. ได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ยังต้องชำระเหมือนเดิม จึงอยากทราบว่า ผู้ว่าฯ กทม. จะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร

พิทักษ์ โยธา

ด้าน นายศุภพงษ์ พรึงลำภู ตัวแทนกลุ่มคราฟท์เบียร์ เปิดเผยว่า ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ ขอเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนมาตรการให้สามารถนั่งดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านได้ เช่นเดียวกับที่ผ่อนปรนมาตรการแก่ร้านอาหาร ให้สามารถนั่งได้ 25 เปอร์เซ็นต์ของร้าน พร้อมทั้งต้องการให้มีมาตรการผ่อนปรน เนื่องจากบางอาชีพไม่สามารถ work from home ได้ และทุกวันนี้ผู้ประกอบการไม่มีรายได้ บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ นอกจากนี้ไม่อยากให้มีการซ้ำเติม โดยการไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์อีก เนื่องจากช่องทางการขายออนไลน์นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น อยากเรียกร้องให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยงอย่างกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ถูกสั่งปิด เพื่อให้สถานการณ์กลับมาดำเนินได้อย่างปกติ

หนังสือของสมาคมคราฟท์เบียร์ยังระบุด้วยว่า

เป็นเวลากว่า 45 วันแล้ว ที่ภาครัฐออกมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคในร้าน และกำหนดเวลาปิดร้านของธุรกิจเป็น 23.00 น. ทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยมากมายที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนถึงกลุ่มธุรกิจคราฟท์เบียร์ที่ประกอบไปด้วยร้านเล็กใหญ่นับพัน ตัวแทนจำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ที่สูญเสียรายได้จากมาตรการนี้โดยไม่มีการเยียวยาใดๆ

ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคราฟท์เบียร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวนไม่น้อยกว่า 300 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าอย่างน้อย 150 ล้านบาทต่อเดือน ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทที่ให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน ยังไม่รวมผู้ประกอบการร้านอาหารและผับบาร์ที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมายหลายแสนราย ต่างได้รับความเสียหายรวมมูลค่ามหาศาล

ทางสมาคมฯ จึงขอเสนอแนวทางบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดังต่อไปนี้

1. ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ โดยมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

2. ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรา 32 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ร้านค้าสามารถแนะนำและจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย

3. อนุญาตให้ผู้ประกอบรายย่อยการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม และอนุญาตให้ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบ่งชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

4. พิจารณาให้มีการระดมตรวจหาเชื้อ Covid-19 และฉีดวัคซีนในกลุ่มวิชาชีพผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ เนื่องจากการออกมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปิดสถานบันเทิง จึงถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลต้องกำจัดความเสี่ยงโดยเร่งด่วนเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างสมควร

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube