กรุงเทพมหานคร ออกประกาศสั่งปิดสถานที่เสี่ยงโควิด-19 ต่ออีก 14 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 31 ระบุ ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 โดยให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร
เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นั้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นไปตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่15 พฤษภาคม 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1)แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 24 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.ให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564(ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 และ(ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
2. กรณีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่25 เมษายน 2565 ขัดหรือแย้งกับ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 ให้ปฏิบัติตาม (ฉบับที่ 26)ลงวันที่ 30เมษายน 2564 และกรณีขัดหรือแย้งกับ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ให้ปฏิบัติตาม(ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564
ประกาศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news