“อนุทิน”ย้ำมิ.ย.เริ่มฉีดวัคซีนลอตใหญ่ทั่วประเทศ
“อนุทิน” ย้ำ มิ.ย.เริ่ม ฉีดวัคซีน ลอตใหญ่ทั่วประเทศ กระจายตามแผนแล้ว ด้าน กรมควบคุมโรค ยันเท่าเทียม หารทุกจังหวัดเท่ากันตามด้วยอัตราส่วนประชากรและตามสถานการณ์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า เดือนมิถุนายนเป็นเดือนเริ่มต้นการ ฉีดวัคซีน โควิด 19 ลอตใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้กระจายวัคซีนให้ทุกจังหวัด ตามแผนที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. เพื่อรองรับการฉีด ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้
ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 กรมควบคุมโรคได้จัดส่งไป ยังหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศแล้ว 1.1 ล้านโดส และจะทยอยจัดส่งอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยหารทุกจังหวัดเท่ากัน ตามด้วยอัตราส่วนจำนวนประชากรและตามสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ ซึ่งจะปรับเพิ่มลดบางจังหวัดที่ติดเชื้อมากน้อย โดยนายกรัฐมนตรี ให้ยึดหลักการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม วัคซีนที่ส่งไปมี 2 ชนิดคือ แอสตร้าเซนเนก้า และ ซิโนแวค ซึ่งมีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก
สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า การจัดส่งเป็นไปตามสัญญา ที่กรมควบคุมโรคได้ทำความตกลงกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า รองรับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการฉีด เพื่อทำให้การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพ การจัดส่งวัคซีนสอดคล้องประสิทธิภาพการฉีดของเรา โดยจะมีการส่งเป็นรายสัปดาห์
“อนุทิน”รับ”ซิโนแวค” ทยอยเข้ามาอีก 11 ล้านโดส ระหว่าง มิ.ย.-ก.ย.นี้ ตามนโยบาย นายกฯ จัดหาวัคซีนเพิ่ม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวค จำนวน 6 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อ 5.5 ล้านโดส และวัคซีนที่รัฐบาลจีน บริจาค 5 แสนโดส ได้กระจายและดำเนินการฉีดวัคซีนตามแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการระบาด
โดยในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2564 จะมีวัคซีนซิโนแวคจำนวน 11 ล้านโดส ทยอยส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องเดือนละประมาณ 2.5-3 ล้านโดส ในเบื้องต้น วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายนนี้ จำนวน 5 แสนโดส จากการบริจาคของรัฐบาลจีน ส่วนกลางเดือนมิถุนายน เข้ามา 1 ล้านโดส และปลายเดือนมิถุนายน อีก 1 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวค ที่จัดซื้อเข้ามานี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ที่ให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มจากวัคซีนหลัก คือ แอสตร้าเซนเนก้า ให้ครอบคลุมประชาชนไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ระบุว่า องค์การอนามัยโลก ได้อนุมัติใช้วัคซีนซิโนแวค – โคโรนาแวค (Sinovac-CoronaVac) ป้องกันโรคโควิด 19 ที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ประเทศจีนในกรณีฉุกเฉิน (WHO Emergency Use Listing : EUL) หลังผ่านการพิจารณาแล้ว ว่า วัคซีนมีความปลอดภัย มีประสิทธิผล และมีกระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยแนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่กำหนดอายุสูงสุด จึงสอดคล้องกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้คำแนะนำไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งวัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยที่มีอาการได้ 51 % และป้องกันการป่วยที่รุนแรงและอาการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ 100% ถือเป็นวัคซีนตัวที่ 6 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย วัคซีนของไฟเซอร์, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน วัคซีนซิโนแวค มีข้อดีคือ เก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ทำให้บริหารจัดการได้ง่าย ปัจจุบันทั่วโลกฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้วกว่า 400 ล้านโดส ไม่พบผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากวัคซีนแต่อย่างใด
กรมควบคุมโรค ยัน กระจายวัคซีนเท่าเทียม การจัดสรรขึ้นอยู่กับวัคซีนที่มี ความต้องการในการฉีด ปรับตามสถานการณ์
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกระจายวัคซีน เริ่มจากหารเท่ากันทุกจังหวัดก่อน จังหวัดที่มีการระบาดมากจะได้รับการจัดสรรมากเช่น กทม. และปริมณฑล และพื้นที่จำเพาะตามนโยบาย เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวภูเก็ต ซึ่งมีการฉีดเข็มแรกไปแล้วได้ 50% ของเป้าหมาย หรือชลบุรี พัทยา เกาะสมุยจะได้เพิ่มเติม มีการปรับเกลี่ยวัคซีน
โดยการจัดสรรขึ้นอยู่กับวัคซีนที่มี และความต้องการในการฉีด ต้องปรับตามสถานการณ์ ดังนั้นทุกจังหวัดจะได้รับวัคซีนโดยจังหวัดที่อยู่ไกล การขนส่งลำบาก จะได้รับการจัดสรรก่อน ขณะนี้กระจายแล้ว 1 ล้านกว่าโดส หลายพื้นที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่อาจมีบางพื้นที่อยู่ระหว่างการขนส่งโดยจะทยอยไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ศบค. ให้แผนประจำเดือน แต่ทอนมาเป็นรายสัปดาห์ ส่งไปแล้วติดตามดูสต๊อกว่าเหลือเท่าไร เพื่อความยืดหยุ่นและปรับการจัดส่ง ส่วนแผนการฉีดของแต่ละพื้นที่ เขามีตัวเลขอยู่แล้ว ขอให้ฉีดอย่างเหมาะสม ทั้งการฉีดและการมีวัคซีนต้องเหมาะสมกัน โดยกลุ่มเป้าหมายยังคงเดิม คือ ผู้ที่จองผ่านแอปพลิเคชัน ผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง รวมถึงกลุ่มที่ต้องได้รับการฉีดก่อน เช่น บุคลากรทางการศึกษา, แรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการ
ขณะเดียวกัน วัคซีนที่จัดส่งไปในแต่ละพื้นที่ มีทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า จะปรับตามความเหมาะสมพื้นที่ ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ข้อบ่งชี้ไม่ต่างกัน ใช้ได้ทั้งสองตัวแต่ขึ้นกับเหตุผลของแต่ละคน เช่น ฉีดซิโนแวคแล้ว แพ้เข็มสองเปลี่ยนเป็นแอสตร้าฯ แต่การฉีดจะขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ
ปชช.ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 โครงการไทยร่วมใจ แล้วกว่า 2 ล้านคน
ข้อมูลการลงทะเบียนโครงการไทยร่วมใจ
ณ 2 มิ.ย. 64 เวลา 22.00 น.
……………….
แจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคชีน
สะสมทั้งหมด (27 พ.ค.- 2 มิ.ย.64)
2,084,055 ราย
ผู้ลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตัง
1,327,412 ราย
ผู้ลงทะเบียนผ่าน
www.ไทยร่วมใจ . com
756,643 ราย
……………….
เฉพาะวันที่ 2 มิ.ย.64
ลงทะเบียน 43,856 ราย
ผู้ลงทะเบียนผ่าน
แอปฯเป๋าตัง 26,871 ราย
ผู้ลงทะเบียนผ่าน
www.ไทยร่วมใจ . com
16,985 ราย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news