“หมอยง” ตอบข้อสงสัยระยะห่างเข็มที่ 1-2 แอสตราเซเนกา เพราะต้องการควบคุมโรคเร็วที่สุด ฉีดให้ประชาชนมากที่สุด ยิ่งห่างนาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่า
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” เกี่ยวกับโควิด 19 วัคซีน ระยะห่างของการให้วัคซีน แอสตราเซเนกา ว่า หลายคนมีข้อสงสัยในการกำหนดระยะห่างของการให้วัคซีน AZ ทำไมประเทศไทยขณะนี้จึงกำหนดระยะห่าง จากเดิม 10 สัปดาห์ เป็น 16 สัปดาห์
จากการศึกษาในการวิจัยทางคลินิก เดิมระยะห่าง การให้วัคซีน AZ อยู่ที่ 4 สัปดาห์ เมื่อทำการศึกษาระยะที่ 3 ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันมากกว่า 6 สัปดาห์ ถึง 12 สัปดาห์ ได้ผลภูมิต้านทานและประสิทธิภาพดีกว่าผู้ที่ได้รับห่างกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์
ในการใช้จริงที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงที่มีโรคระบาดมาก และวัคซีนไม่เพียงพอ อังกฤษจึงยืดระยะห่างของการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปอีกถึง 16 สัปดาห์ เพื่อให้ประชากรส่วนใหญ่ ได้รับวัคซีนเข็มแรกให้มากที่สุด ไม่ต้องใช้แรงงาน มาพะวงกับการฉีดเข็มที่ 2 จะได้ปูพรมเข็มแรกได้กว้างที่สุดเพื่อระงับการระบาด
ผลการศึกษาในสกอตแลนด์ พบว่า การให้ AZ เพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพ ถึง 80% การให้เข็มที่ 2 จะเพิ่มประสิทธิภาพเป็น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เห็นว่าเข็ม 2 เพิ่มประสิทธิภาพก็จริง ถ้าเปรียบเทียบกับการปูพรมเข็มแรกให้มากที่สุดแล้ว ค่อยเติมเข็ม 2 น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ในการควบคุมการระบาดของโรค
โดยหลักของวัคซีน การทิ้งระยะห่าง ยิ่งห่างนาน ก็จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่า ระดับภูมิต้านทานหลังเข็ม 2 จะสูงกว่า ในการหวังผลให้อยู่นาน การยืดเข็ม 2 ออกไป จะมีข้อเสียตรงที่ว่าประสิทธิภาพจะสู้การให้ 2 เข็มไม่ได้ ต้องคำนึง คือถ้ามีเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์ แอฟริกาใต้ ( Beta) วัคซีนทั่วไป ประสิทธิภาพลดลงอยู่แล้ว ก็อาจจะป้องกันไม่ได้ แต่สายพันธุ์อังกฤษและอินเดีย ไม่น่าจะมีผลมาก
ดังนั้น ประเทศไทยอยู่ในช่วงการระบาดขาขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการควบคุมโรคให้เร็วที่สุด จำเป็นที่จะต้องให้ AZ วัคซีนปูพรมในแนวกว้างให้มากที่สุดก่อนโดยต้องระดมทรัพยากรทั้งหมดรวมทั้งวัคซีน มาใช้ในการให้วัคซีนเข็มแรก ภายใน 16 สัปดาห์ ประชากรส่วนใหญ่ทั้งประเทศก็จะได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แล้วค่อยไปเติมเข็มที่ 2 ภูมิจะสูงขึ้นและอยู่นาน
สิ่งสำคัญในระหว่างนี้ จะต้องเฝ้าระหว่างสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่อาจจะสร้างปัญหาในระดับที่ภูมิต้านทานยังไม่สูงมากเกิดขึ้นได้ สายพันธุ์อังกฤษและอินเดียไม่น่าจะมีปัญหา
การควบคุมการระบาดในประชากรหมู่มาก ทั้งประเทศไทย ในภาวะที่ทรัพยากรที่จำกัด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ดังนั้น การกำหนดระยะห่างไปที่ 16 สัปดาห์ จึงเป็นการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย ในภาพรวม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news