เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
เป็นที่ทราบกันดีว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุก่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งกล่องเสียง และโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ รวมถึงเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 อีกด้วย
เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เน้นย้ำให้เห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ และยิ่งอันตรายคูณสองหากติดร่วมกับโรคโควิด-19 โดยปีนี้ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รณรงค์ว่า COMMIT TO QUIT หรือมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ สำหรับประเทศไทยรณรงค์ภายใต้คำขวัญว่า “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” เพราะการเลิกสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเจ็บป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตเมื่อติดโควิด-19 ได้
“ผู้สูบบุหรี่ที่ติดโควิด-19 มักจะมีอาการหนักกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า เพราะมีถึง 2 ปัจจัยที่ทำอันตรายต่อปอด คือสารเคมีที่อยู่ในบุหรี่จะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ขณะที่เชื้อโควิด-19 หากเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะกระจายเชื้อทำลายปอดอย่างรวดเร็ว” เป็นคำยืนยันจาก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ความเสี่ยงของบุหรี่กับโรคโควิด-19 มีดังนี้
- บุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกาย ปอด อ่อนแอกว่าปกติ
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ติดโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อให้กับคนอื่น หากเกิดการไอจามเวลาสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
- การได้รับควันมือสองเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงที่จะให้ติดโควิด-19 ง่ายขึ้น
ศ.นพ.ประกิต อธิบายว่า ในปอดที่สูบบุหรี่อยู่แล้วจะจัดการกับเชื้อโควิดได้น้อยกว่าปอดที่ไม่สูบบุหรี่ โอกาสที่อาการหนักและเสียชีวิต เมื่อติดโควิด-19 ก็สูงกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า ซึ่งความเหมือนของบุหรี่กับโควิด-19 คือต่างทำให้ปอดและทางเดินหายใจอักเสบเหมือนกัน ซึ่งหากติดเชื้อโควิดแล้ว สารพิษที่อยู่ในควันบุหรี่จะทำให้เม็ดเลือดขาว ซึ่งโดยปกติจะทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จนร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น
ศ.นพ.ประกิต บอกถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ว่า มือที่ใช้คีบบุหรี่ อาจไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่มีเชื้อโควิด-19 อยู่ แล้วนำมาสูบต่อ จึงเป็นทางนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่การจับกลุ่มสูบบุหรี่หรือสูบบุหรี่ตัวเดียวกัน ถ้าเกิดมีผู้ติดโควิด-19 ไอหรือจาม จะยิ่งเสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อโควิด
ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกว่า บุหรี่เป็นยาเสพติดที่มีอำนาจเสพติดสูง มีผลวิจัยว่าบุหรี่เลิกยากเท่ากับติดเฮโรอีน จึงอยากจะเตือนวัยรุ่นว่าอย่าคิดเข้าไปลอง ซึ่งถ้าพ้นอายุ 20 ปีขึ้นไปแล้วถ้าไม่ติดบุหรี่ คนเกือบทั้งหมดจะไม่ติดอีกแล้ว และคนกว่า 90% เลิกบุหรี่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นอยู่ที่ความตั้งใจแล้วก็ลงมือเลิก แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็ไปขอรับบริการจากสถานพยาบาล หรือโทรไปที่สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600
“ดีที่สุดของสุขภาพ คือการเลิกสูบบุหรี่ ลองเปลี่ยนวิกฤตของโควิด-19 ให้กลายเป็นโอกาสในการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงที่ตัวเองจะเจ็บป่วยหนักแล้ว ยังลดโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว
เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก สสส. ขอเชิญชวนผู้สูบบุหรี่ ใช้โอกาสนี้เริ่มต้นการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากจะทำลายสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างแล้ว ยังเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยสามารถขอรับคำปรึกษาฟรี ได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่โทร 1600
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news