ปลัดสธ.เผยรับวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม1ล้านโดส
ปลัด สธ. เผยรับ วัคซีนซิโนแวค เพิ่ม 1 ล้านโดส รอ กรมวิทย์ฯ ตรวจ ยันจัดหาเพิ่มรองรับการฉีดจำนวนมาก ย้ำจัดสรรตามสูตร ของ ศบค.
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ภายหลัง องค์การเภสัชกรรมได้รับวัคซีนโควิด 19 ของ ซิโนแวค จากประเทศจีน จำนวน 1 ล้านโดส เมื่อเช้านี้
จากนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะตรวจรับรองรุ่นการผลิต และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะตรวจใบรับรองการผลิตจากจีน เมื่อเรียบร้อยจะกระจายจัดส่งตามแผนต่อไป โดยปัจจุบันมีการนำเข้า วัคซีนซิโนแวค แล้ว 10 ลอต รวม 7.5 ล้านโดส ส่วนในปลายเดือนมิถุนายนนี้ จะรับวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มอีก 2 ล้านโดส
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจำนวนมากพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามสูตรและแผนที่ ศบค.กำหนด โดยบริหารจัดการวัคซีนให้สอดคล้องกับศักยภาพการฉีดของแต่ละจุด ความต้องการของประชาชน และจำนวนวัคซีนที่มี เพื่อให้การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพ และคล่องตัวมากที่สุด ซึ่งขณะนี้ฉีดได้วันละประมาณ 4 แสนโดส หากคิดเฉพาะวัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส ที่ได้มาวันนี้ จะใช้เวลาเพียง 3 วันก็ฉีดหมดแล้ว จึงจะมีการเจรจาจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม
ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนซิโนแวค ในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ต้องรอผลการศึกษาวิจัยของบริษัทผู้ผลิตที่ประเทศจีน ทั้งปริมาณโดส จำนวนครั้งที่ฉีด และระยะห่างระหว่างเข็ม เนื่องจากร่างกายเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ หากมีการศึกษาวิจัยเรียบร้อย อย. สามารถพิจารณาเรื่องการขึ้นทะเบียน เพื่อเพิ่มเงื่อนไขหรือข้อบ่งชี้ในการใช้ต่อไป หรือหากองค์การอนามัยโลก พิจารณารับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยกำหนดไปจนถึงอายุ 3 ปี ก็ช่วยให้แต่ละประเทศขึ้นทะเบียนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จะสามารถพบรายงานอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดได้ ซึ่งรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตจะมีการพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ส่วนกรณีข้อสังเกตว่า ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แล้วเกิดอาการไข้นั้น ถือเป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกายเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา
จากรายงานการศึกษาของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบอาการไข้หลังฉีดได้ 30% เมื่อพักผ่อนและรับประทานยาแล้วสามารถหายได้ใน 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม การมีไข้ไม่ได้แปลว่าร่างกายเกิดปฏิกิริยากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ย้ำว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และการฉีดวัคซีนขอให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าควรฉีดวัคซีนชนิดใด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news