ศบค. เผย พบคลัสเตอร์ใหม่ 4 จังหวัด เน้นย้ำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้โรงงานมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว ขณะวัคซีนแอสตราฯฉีดแล้ว 1.9 ล้านโดส รอสอบโยงตายฉีดวัคซีน 55 คน
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยว่า พบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 83 คลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์ใหม่พบที่เขตบางนา โรงเรียนพลาธิการทหารเรือ รายงานผู้ติดเชื้อ 16 มิ.ย.64 จำนวน 37 ราย และอยู่ในระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม ด้านพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พบคลัสเตอร์ใหม่ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ เป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์ พบติดเชื้อ 154 ราย อำเภอพระประแดง เป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวน 30 ราย จังหวัดสมุทรสาคร ที่ อำเภอเมืองสมุทรสาครเป็นโรงงานอาหารทะเลสดติดเชื้อ 11 ราย จังหวัดเชียงราย ที่อำเภอเทิง เป็นการสัมผัสผู้ป่วยจากจังหวัดชลบุรีมีการติดเชื้อ 23 ราย โดย ศปก.ศบค. เน้นย้ำไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้โรงงานมีมาตรฐานและควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว
โดยที่ประชุม ศปก.ศบค. เน้นย้ำในที่ประชุม ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอย่างเคร่งครัด ซึ่งกรมควบคุมโรคเสนอให้จังหวัดกำหนดมาตรการเข้มข้น โดยหากพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย และสอบสวนว่ามีผู้ใกล้ชิดเป็นใครอยู่ที่ไหน ให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัว ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมาทำไม่ได้ เนื่องจากอาศัยอยู่อย่างแออัด จึงขอความร่วมมือจังหวัดจัดหาสถานที่ เพื่อทำให้การระบาดสามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดได้ เน้นย้ำให้จังหวัดเฝ้าระวังการเดินทางเข้าพื้นที่
ขณะที่แคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวน 575 แคมป์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเจรจาขอความร่วมมือมาตรการ โดยหากทำไม่ได้สิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีการปรับมาตรการเข้มข้นขึ้น โดยมีการขอความร่วมมือมหาดไทย ส่งกำลังทหาร ตำรวจ เข้าควบคุมกำกับดูแลแคมป์คนงาน ทุกแคมป์ แต่อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณประชาชน ที่มีการแจ้งเบาะแสการ กระทำความผิด เช่น การตั้งวงดื่มเหล้าในแคมป์คนงาน คนงานออกมาซื้อของในตลาดแม้สั่งปิด
ขณะที่นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ฉีดไปแล้วกว่า 7 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นซิโนแวค 3.2 ล้านโดส พบมีอาการไม่พึงประสงค์ ที่มีอาการมากจนเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 993 ราย คิดเป็น 20 รายต่อ 1 แสนโดส พบร้อยละ 20 มีอาการเวียนศีรษะ, ร้อยละ 15 คลื่นไส้, ร้อยละ 12 ปวดศีรษะ, ร้อยละ 8 อาเจียน เป็นต้น ซึ่งพบได้รับวัคซีนตัวอื่นที่เคยฉีดยามา
ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกาฉีดไปแล้ว 1.9 ล้านโดส มีอาการไม่พึงประสงค์เป็นผู้ป่วยใน 472 ราย คิดเป็นอัตรา 24 รายต่อ 1แสนโดส พบเป็นไข้ร้อยละ 31, ปวดศีรษะร้อยละ 27, เวียนศีรษะร้อยละ 21, คลื่นไส้ร้อยละ 21 อาเจียนร้อยละ 20 เป็นต้น
ซึ่งจากรายงานมีผู้เสียชีวิตจำนวน 68 คนโดยพิจารณาสำเร็จไปแล้ว 13 ราย ซึ่งทั้ง 13 คนไม่มีรายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจากวัคซีน ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ร่วมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยแจ้งเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน 8 ราย ภาวะ Immune Thrombotic Thrombocytopencic purpura หรือ โรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง จำนวน 1 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย Purulent meningitis หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย 1 ราย เลือดออกในช่องท้องจาก Intraabdominal aneurysm หรือ หลอดเลือดโป่งพอง 1 ราย Rupture aneurysm หรือ เส้นเลือดในสมองโป่งพองและแตก ในสมอง 1 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนชันสูตรพลิกศพจำนวน 55 ราย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news