ศบค.ปรับแผนวัคซีนเพิ่มเป็น150ล้านโดสในปี65
ที่ประชุม ศบค. อนุมัติแผนการจัดหา วัคซีน จาก 100 ล้านโดส ภายในปี 64 เป็น 150 ล้านโดสในปี 65 – จัดสรรให้ผู้ที่จองผ่านหมอพร้อม,จังหวัดนำร่องเพื่อเปิดการท่องเที่ยวก่อน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยว่า ที่ประชุมได้มีการอนุมัติแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 และการจัดสรร วัคซีน ให้แต่ละจังหวัดในเดือน ก.ค.นี้
โดยการจัดสรรวัคซีน ซึ่งจะมีวัคซีนเข้ามาในเดือน ก.ค.ประมาณ 10 ล้านโดส จึงขออนุมัติการใช้เกณฑ์จัดสรรให้ผู้ที่จองวัคซีนล่วงหน้าในระบบหมอพร้อม คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับวัคซีนก่อน, พิจารณาให้กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5 ล้านโดส ภายในเดือน ก.ค.นี้ และพิจารณาให้ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนก.ค.นี้
ซึ่งเน้นให้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 5 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, นนทบุรี และปทุมธานี รวมถึงจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ให้ได้ก่อน ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องเพื่อเปิดการท่องเที่ยว
จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน, จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด รวม 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, หนองคาย, สระแก้ว, ระนอง, นราธิวาส, ยะลา, ปัตตานี, สงขลา, ตรัง, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, นครปฐม, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, บุรีรัมย์, สุราษฎร์ธานี ที่อำเภอเกาะสมุย, พังงา และกระบี่ จะได้ลดหลั่นลงมา และจังหวัดที่เหลือของประเทศอีก 49 จังหวัด
ซึ่งจะมีการจัดสรรวัคซีน ให้กับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุดเข้มงวด และจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยวรวม 5 จังหวัด ร้อยละ 30 แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร รวม ทปอ. และประกันสังคม 2.5 ล้านโดส, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ 6 แสนโดส และภูเก็ตอีก 2 แสนโดส, จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด
หรือมีความเร่งด่วน ในการเตรียมความพร้อม รองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด 23 จังหวัด เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส ร้อยละ 25 ประมาณ 2.5 ล้านโดส , จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย รวม 49 จังหวัดเฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส ร้อยละ 35 ประมาณ 3.5 ล้านโดส และพื้นที่อื่นๆได้แก่ หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐและสำรองส่วนกลาง สำหรับปรับตอบโต้การระบาด ร้อยละ 10
ทั้งนี้ การจัดสรรขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีน ที่บริษัทผู้ส่งมอบและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการการจัดสรรนี้
ทั้งนี้ เรื่องแผนการจัดหาวัคซีน มีการเสนอเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีน จาก 100 ล้านโดส ภายในปี 64 เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 65 , ขณะนี้ มีการจัดหา หรือดำเนินการเจรจาทางวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส จึงต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวค ประมาณ 28 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ ประมาณ 22 ล้านโดส และที่ประชุมได้อนุมัติแล้วเช่นกัน
ศบค. ปรับให้ ปชช.ทั่วไปใช้สถานกักตัว AQ แทน และ SQ ใช้สำหรับกลุ่มเปราะบาง ย้ำนักท่องเที่ยวจะต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ก่อนจึงจะเข้าประเทศได้
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยว่า เรื่องการดำเนินการของสถานที่กักกันของรัฐ ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ในส่วนของ State Quarantine หรือ SQ มีการใช้เพิ่มมากขึ้น และมีประชาชนบางคน ที่เดินทางไปกลับบ่อย จึงมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
จึงปรับให้ประชาชนทั่วไปที่เดินทางเข้ามาจะต้องเป็นการใช้ Alternative State Quarantine หรือ AQ แทน แต่ SQ ยังคงมีอยู่แต่สำหรับผู้ที่เปราะบาง รวมถึงข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อทางภาครัฐจะช่วยออกค่าใช้จ่าย ส่วนค่าที่พักประชาชนจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
ส่วนการถ่ายทำละคร หรือรายการ มีข้อเสนอเพื่อพิจารณาในที่ประชุม คือ ให้มีผู้เข้าร่วมถ่ายทำได้ไม่เกิน 50 คน ให้ยกเว้นผู้ที่ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากบางช่วงเวลา คือรายการละคร เฉพาะนักแสดงที่เข้าฉาก, รายการประกวดร้องเพลง เฉพาะผู้เข้าร่วมประกวดที่มีการจัดพื้นที่ไว้เฉพาะ, รายการเกมโชว์ เฉพาะผู้ร่วมรายการคราวละ 1 คน, ผู้ประกาศข่าว จะต้องจัดให้มีฉากกั้นและเว้นระยะห่าง อย่างน้อย 2 เมตรหรือตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า เปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต, จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เกาะสมุย, เกาะพะงัน และเกาะเต่า โดยเน้นที่จังหวัดภูเก็ตเนื่องจากมีความพร้อมมากกว่า ซึ่งกลุ่มคนที่เดินทางมา จะต้องเป็นประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ว่ามีความเสี่ยงต่ำ หรือเสี่ยงปานกลาง
และต้องได้รับวัคซีนมา โดยกำหนดว่าต้องเป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การอาหารและยา หรืออย. กำหนด มี 5 ชนิด คือ แอสตราเซเนกา, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแว็กซ์, โมเดอร์นา และ Johnson & Johnson ซึ่งต้องได้รับการฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม และอย่างน้อย 14 วัน จึงจะเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งจะต้องอยู่ในจังหวัดภูเก็ต อย่างน้อย 14 วัน หรือต้องกลับไปราชอาณาจักร เท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้มีการติดเชื้อ
ด้านหลักการการเปิดพื้นที่นำร่อง ในจังหวัดภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี จะต้องมีมาตรการเพิ่ม 3 ข้อ คือ ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19, เรื่องการเตรียมความพร้อมประชาชน และการเตรียมความพร้อมมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news