ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรใหม่ ปริญญาตรี-ขยายโอกาส “พยาบาลศาสตรบัณฑิต”
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรใหม่ ปริญญาตรี-ขยายโอกาส “พยาบาลศาสตรบัณฑิต” รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา เรียน 5 เทอม รองรับวิชาชีพขาดแคลน
พยาบาลเปรียบเสมือนหัวใจหลักของระบบสุขภาพ
องค์การอนามัยโลก (WHO) เผย โลกกำลังขาดแคลนพยาบาล และควรมีการผลิตพยาบาลให้ได้อย่างต่ำ 6 ล้านคน ภายในปี คศ. 2030 ทั้งนี้ยังเพื่อเป็นการรองรับการขาดแคลน เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19
ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนพยาบาล ทั้งในภาวะปกติ ภาวะฉุกเฉิน อย่างเช่นในสถานการณ์โควิดและในภาวะเตรียมความพร้อมสู่การเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)”
พยาบาลวิชาชีพในยุค 5.0 สำหรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางกระแสความขาดแคลนกำลังคน และ โรคอุบัติใหม่ ความรอบรู้ทั้งเรื่องมนุษย์ สังคมยุคใหม่ เทคโนโลยี และ ความรู้ทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่ไม่มีจุดสิ้นสุด การสร้างทักษะใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม (reskill) และ เพิ่มความสามารถในการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เข้ากับการทำงาน (Upskill) จึงเป็นประเด็นที่สำคัญในการพัฒนาบัณฑิต พยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น เป็น หลักสูตรใหม่ ที่ขยายโอกาสและรองรับความขาดแคลนและเติมเต็มสมรรถนะ ให้สมบูรณ์ ตอบโจทย์ด้านสุขภาพของประเทศ เปิดรับสมัคร รุ่น 1 เดือนมิถุนายน 2564 จำนวนรับสมัคร 100 คน
ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ต้องการสืบทอดพระราชปณิธานในการขจัดทุกข์บำรุงสุข แก่ประชาชน ซึ่งจัดตั้ง สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขึ้นพร้อมรับนักศึกษา หลักสูตรพยาบาล
ศาสตรบัณฑิต รุ่นแรกในปีการศึกษา 2560 จำนวน 50 คน มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถ รอบรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพการพยาบาล มีอุดมการณ์ มีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อวิชาชีพและเป็นพลเมืองดีที่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้ปรัชญา “ดูแลคนด้วยหัวใจ”
รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าเพื่อตอบสนองพระปณิธาน อีกทั้งยังเป็นการรองรับสถานการณ์และปัญหาสาขาวิชาชีพขาดแคลน สถาบัน ววจ. ได้เปิด หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564 คือ พยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น โดยรับบุคคลที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพมาเป็นพยาบาลวิชาชีพ มุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะเรื่องการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม และ การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล อีกทั้งยังเป็นไปตามพันธกิจของสถาบัน ซึ่งมุ่งตอบสนองความต้องการของประเทศ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมผู้สูงอายุ และการเพิ่มกำลังคนสาขาหลักของสาธารณสุข
หลักสูตรนี้ผลิตบุคลากรสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มุ่งขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับบุคคลโดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ หรือเศรษฐานะ ให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ในการแก้ปัญหาโดยรวม อาทิ ตอบสนองความต้องการบุคลากรพยาบาลของประเทศที่กำลังขาดแคลน ปัญหาการว่างงานของประชาชน ส่งเสริมคุณภาพการบริการทางสุขภาพ และพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการบริการทางสุขภาพ โดยทางสถาบันฯ มีความพร้อมอย่างมากในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษามีศักยภาพสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริการทางสุขภาพ รองรับความต้องการในวิชาชีพขาดแคลน
ทั้งนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ประกอบกับความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบบัณฑิตซึ่งมีทักษะความเชี่ยวชาญ ภายใต้ปรัชญาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” จึงได้จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องและพัฒนาหลักสูตรสม่ำเสมอ ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เน้นสร้างประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง รวมทั้งปรับระบบการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รู้จักเรียนรู้ตลอดชีวิต
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น) มีจุดเด่นที่ใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพียง 2 ปี 6 เดือน จะมุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะเรื่องการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม และที่สำคัญคือการพัฒนาคุณภาพทางการพยาบาล มีระบบการเทียบโอนหน่วยกิตรับบุคคลที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพมาเป็นพยาบาลวิชาชีพ และใช้การเรียนรู้ที่เน้นการเรียนแบบผู้ใหญ่ (Adult learning) มุ่งให้มีมีประสบการณ์จริงทั้งในห้องปฎิบัติการเสมือนจริงและการปฎิบัติในโรงพยาบาลและในชุมชน ใช้กระบวนการเรียนแบบผสมผสาน (Blended learning) ทั้ง online และ onsite มีโครงการและกิจกรรมภาคสังคมให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนทักษะต่างๆ อาทิเช่น การทำงานวิจัยร่วมกับคณาจารย์ การให้บริการวิชาการแก่ประชาชน และ การออกหน่วย พอ.สว. ร่วมกับสหวิชาชีพ
สำหรับ คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ที่ไม่ใช่สาขาพยาบาล และต้องมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมระดับปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่า /2.50 (จากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม/กระทรวงศึกษาธิการ/ทบวงมหาวิทยาลัย) มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และการประกอบอาชีพ เช่น ตาบอดสีรุนแรง หูหนวกหรือหูตึง เป็นต้น
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา คณบดี ยังกล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน พยาบาลวิชาชีพ มีความสำคัญในสถานบริการด้านสุขภาพทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือปฏิบัติงานในสถานประกอบการต่าง ๆ
ที่ให้บริการด้านสุขภาพ อาทิเช่น โรงงาน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น นักวิจัยปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยหรือนักวิจัยอิสระ นักประกอบการทางสุขภาพ ผู้ดำเนินการสถานดูแลสุขภาพ หรือประกอบอาชีพอิสระอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
อีกทั้งระดับมหภาค “พยาบาล”เป็นวิชาชีพขาดแคลน จากข้อมูลตามรายงานของสภาพยาบาลและสภาการพยาบาลระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลกระบุว่า วิชาชีพพยาบาล เป็นกลุ่มบุคลากรทางสุขภาพที่มีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 59 ของวิชาชีพด้านสุขภาพ ขณะที่ทั่วโลกมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ราว 28 ล้านคน ซึ่งในระยะสั้นช่วง 10 ปีข้างหน้า ความต้องการพยาบาลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5.9 ล้านคน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้สามาถมั่นใจในโอกาสการทำงาน
*** สำหรับผู้สนใจ กำหนดการ เปิดรับสมัคร รุ่น 1 จำนวนรับสมัคร 100 คน วันที่ 28 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2564 และเปิดภาคเรียน เดือนสิงหาคม 2564 ***
สอบถามเพิ่มเติม โทร: 089-671-0633 (ในเวลาราชการ)
สมัครออนไลน์: http://nurse.pccms.ac.th/
Email: [email protected]
Fakebook: @nurse.pccms
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news