ที่ประชุมครม.อนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้ผลกระทบจากคำสั่ง ศบค.ฉบับที่ 25 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสถานการณ์ covid-19 ขอความร่วมมือ เอกชน work from home
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบ Video Conference เหมือนเช่นเคย ตามมาตรการของสาธารณสุข เพื่อลดความแออัด และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเป็นอีกสัปดาห์ที่นายกรัฐมนตรี ไม่แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแทน
ที่นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงขอความร่วมมือบริษัทเอกชนใช้มาตรการ Work for Home เช่นเดียวกับหน่วยงานราชการ ในส่วนของมาตรการปิดแคมป์คนงานทำให้มีแรงงานส่วนหนึ่งหนีกลับต่างจังหวัด ซึ่งทำให้คนในพื้นที่ต่างจังหวัดเกิดความกลัวว่าจะมีการกระจายเชื้อโควิด-19 นั้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่ทราบมาตรการของรัฐบาล และย้ำว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการการเยียวยา และมีการจะเข้าไปควบคุมดูแลร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ทั้ง อาหาร ความเป็นอยู่ และจ่ายเงินสดให้กับคนงานในแคมป์ ทุก 5 วัน โดยจะเข้าไปเช็กรายชื่อทุกวัน
ด้าน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีการหารือมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการ ร้านอาหาร รวมไปถึงมาตรการบางอย่างที่ออกไปแล้ว โดยเฉพาะการผ่อนคลายอย่างแคมป์ก่อสร้างที่หยุดการดำเนินการแล้ว อาจจะมีอันตรายในเชิงวิศวะหรือประเด็นสถานพยาบาลที่มีการเร่งรัดก่อสร้างอยู่
พร้อมยอมรับว่ามีความกังวล หลังแรงงานเดินทางกลับต่างจังหวัด จนอาจทำให้เชื้อโควิด-19 กระจายไปในพื้นที่ได้ แม้จะให้ทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัด ควบคุมให้ผู้ที่เดินทางไปจากพื้นที่กรุงเทพมหานครเข้ารับการกักกันและสังเกตตามความเหมาะสม พร้อมผู้ประเมิน สถานการณ์ทุก 15 วัน
ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า ในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะดำเนินการรักษาตนเองแบบ Home Isolation โฮม ไอซูเลชั่น แต่ต้องมีมาตรการที่รอบคอบ เนื่องจากหากรักษาตัวที่บ้านอาจมีอาการหนักขึ้น แต่การพยายามจัดตั้งโรงพยาบาลสนามยังคงเป็นแนวคิดหลัก เพราะมีสถานที่และอุปกรณ์เพียงพอ แต่สิ่งที่ไม่พอคือบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับการประชุม ครม.ในวันนี้ ได้อนุมัติมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม 6 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดโดยมีระยะเวลาในการช่วยเหลือจำนวน 1 เดือน ได้แก่
กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบมาตรา 33 ที่เป็นสัญชาติไทย จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,000 บาทต่อคน เพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมปกติ ที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่
ส่วนผู้ประกอบการ หรือนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมสูงสุดดูตามจำนวนลูกจ้างที่มี จำนวน 3,000 บาท ต่อหัว สูงสุดไม่เกิน 200 ราย หรือ 600,000 บาท
กรณีผู้ประกอบการไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน โดยผ่านโครงการคนละครึ่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนก.ค.2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news