ยังคงเป็นหนังชีวิต เรื่องยาว ที่นับ ”ลมหายใจรวยรินของผู้คน” ที่กำลังเดือดร้อนต่อ ”ชีวิตสุขภาพ-ปากท้องเศรษฐกิจ” กัน แบบนาทีต่อนาที กับ ตัวเลข ”โควิดเวฟ3” ที่วันนี้ (1ก.ค.) หลายคนเห็นแล้วใจแป้ว กับการทำนิวไฮทั้ง 2 ส่วน คือจำนวนผู้เสียชีวิต ที่พุ่งไปที่ 57 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งไป 5,533 ป่วยสะสม 235,971 ราย นับจาก 1 เม.ย.ที่วันนี้ ”หมอธีระวัฒน์” บอกว่ายังไปก้าวข้ามไป ”เวฟ4” แต่เรียกว่าเป็น ”เวฟ3เสริมพิเศษ” เพราะยังรักษาไม่หาย แต่กำลังมีการกลายพันธุ์จาก ”พันธุ์อังกฤษ” เป็น ”เดลต้า” และ ”เบต้า” ที่ระบาดเร็วแรงอันตรายกว่า ที่ทุกฝ่ายกำลังจับตา ผล ของ ”ปรากฎการณ์ผึ้งแตกรัง” ปิดแคมป์คนงาน จนคนงานแห่กลับบ้านต่างจังหวัด เพื่อแก้ปัญหา รอเตียง กรุงเทพ ตามแนว ”พี่รอง” บิ๊กป๊อกเปรยไว้ ว่าจะ ซ้ำรอย ครั้งสงกรานต์หรือไม่ขนาดไหน ที่ก็เริ่มมีรายวงานตัวเลขที่มาจาก คนงาน กลับมาหลายจังหวัด ไม่นับรวม ”คลัสเตอร์ใหม่” ที่เกิดขึ้นรายวัน เช่นคลัสเตอร์เด็กศูนย์เด็กเล็ก 34 คนที่ขอนแก่น และอีกหลายจังหวัด
ที่ภาพการระบาดหนักที่รวดเร็วรุนแรงกว่าเดิมจนแวดวง ”หมอหน้างาน” แม้จะเหนื่อยที่แบกรับทั้งต้องรักษา และต้องฉีดวัคซีน ต้องพากันออกมาเรียกร้องให้ ”นายกลุงตู่” แก้ปัญหา การจัดการจากศูนย์อำนาจของ ศบค.ลงมา ทั้งในมิติการรักษาชีวิตที่มีปัญหาผู้ป่วยหนักที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จนเตียงเต็มห้องฉุกเฉินล้น ที่กลายเป็นโดมิโนไปสู่ภาพสลดคนรอเตียงจนเสียชีวิตที่บ้านและข้างถนนในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑลที่ระบาดรุนแรง จน ”คุณหมอ” รองปลัดสาธารณสุขปล่อยโฮกับภาพความลำบาก และความเป็นความตายของผู้คนวันต่อวัน ที่ได้รับผลกระทบจาก ภาวะวิกฤติของระบบสาธารณสุขที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆตลอด7วันที่ผ่านมา ที่มาถึงจุดที่ หมอหน้างาน ต้องตัดสินใจ ให้คนไข้โควิดคนไหนได้ไปต่อหรือพอแค่นี้
ที่แม้จะเป็นความย้อนแย้งกับภาพวันนี้(1ก.ค.)ที่ ”นายกฯลุงตู่” ไปบินไปเปิด ”ภูเก็ตแซนด์บ๊อกช์” รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาชุดแรก อันเป็นอีกหนึ่งความหวังในการฟื้นสัญญานชีพเศรษฐกิจ และเป็น สเต็ปก้าว ไปสู่ โรดแมปเปิดประเทศใน120วันที่ตั้งไว้โดยเริ่มนับ 1 ในวันนี้เช่นกัน แต่ก็น่าสนใจพิจารณาคู่ขนานที่กำลังเกิดภาพอารยขัดขืนของกลุ่มประกอบการร้านอาหารที่ไม่พอใจคำสั่งลักหลับห้ามนั่งกินร้านที่ออกมายามวิกาลตี 1 ของศบค.และเริ่มมีการเคลื่อนไหว แบบเตรียมที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากคำสั่ง ศบค.และบางรายก็ประกาศว่าจะต่อต้านคำสั่งให้คนนั่งกินที่ร้าน เช่นเดียวกับ ภาพประชาชนหลายชุมชนเริ่มมีการชุมนุมประท้วงเนื่องจากพบผู้ป่วยในชุมชนหลายรายแต่ไม่มีเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา ไม่นับรวมแรงกระเพื่อมในแวดวงหมอวันก่อนที่ล่าชื่อเรียกร้องให้ปลด ”หมอยง”
กระนั้นหลายฝ่ายก็ยอมรับกับชีวิตจริงตรงหน้าว่าสถานการณ์แบบศูนย์อำนาจยังยืนงงในดงโควิดแบบนี้ ทุกคนต้องช่วยตัวเองให้รอดไปให้ได้ ตั้งแต่แวดวงหมอ จนถึง ประชาชนรอเตียง รอวัคซีน ผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ทุกคนล้วนเสี่ยงกับ ”โควิดพันธุ์ดุ” ที่กำลังมา ซึ่งนาทีนี้โจทย์ยากอยู่ที่การจัดการ ”วัคซีน” ที่มีประสิทธิภาพรับมือกับการกลายพันธุ์เดลต้าและระบบสาธารณสุขการรักษาว่าด้วยเรื่องรอเตียง ที่หลายโรงพยาบาลเช่นราชวิถีเริ่มนำร่องตามที่มาตรการกักตัวรักษาที่บ้านภายใต้การสนับสนุนงบประมาณอุปกรณ์ดูแล จาก สปสช.ออกมาบ้างแล้ว ไม่นับรวมการเพิ่มเตียงสนามของรัฐบาล
โดยในประเด็นวัคซีนนั้นแม้ ”หมอหนู” จะกล้อมแกล้มแบบให้ยังต้องลุ้น ว่า “วัคซีนหลัก” แอสตราเซนเนกา เข้ามาในสัปดาห์นี้ 2 ลอต แบ่งเป็นวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 800,000 โดส และจะเข้ามาวันที่ 2 ก.ค. อีก 1.4 ล้านโดส ดังนั้น เดือน มิ.ย.มีวัคซีนเข้ามาราว 9 ล้านโดส แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลในความเพียงพอต่อสถานการณ์ ไม่นับรวมประสิทธิภาพที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนแบบที่กำลังปรากฏแบบมีแนวโน้มรุนแรงอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่ไม่แปลกว่า จะทำให้ ”หมอหน้างาน” ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาวัคซีน mRNA, Viral vector ชนิดอื่น มาแทน SinoVac ที่มีแผนจะซื้อปริมาณมากเพราะ mRNA มีผลดีกว่าในการควบคุมโรค และขอให้ รัฐบาลแก้ไข ยกเลิกระเบียนราชการที่ทำให้การจัดซื้อวัคซีนล่าช้า แต่ยังต้องมีความโปร่งใส รวมทั้งขอให้มีการส่งเสริมสนับสนุนนักวิจัยและอุตสาหกรรมยาในประเทศในการผลิตวัคซีนคุณภาพสูง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news