ทส. เร่งตรวจสอบคุณภาพอากาศ รัศมี 5 กม.โรงงานไฟไหม้ พบ 1 กม. เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต ขอประชาชนอย่าใจร้อน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเหตุไฟไหม้ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซ.กิ่งแก้ว 21 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ว่า ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษ กำลังดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศในรัศมี 3-5 กิโลเมตร โดยได้มีการส่งรถโมบายเคลื่อนที่ลงไปตรวจวัด และยังมีการติดตั้งสถานีย่อยในรัศมีดังกล่าว เบื้องต้นพบว่าคุณภาพอากาศในรัศมี 1 กิโลเมตร เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิต ขณะที่ในระยะ 5 กิโลเมตรถือว่ายังเป็นระยะที่ปลอดภัยอยู่ แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลอดภัยถึงขั้นให้ประชาชนเดินทางกลับที่พักอาศัย เพราะยังต้องตรวจสอบเรื่องสารเคมีตกค้าง และสารที่ไหลออกมาจากโรงงาน ซึ่งกับมาน้ำที่ฉีดเลี้ยงไฟไม่ให้ปะทุที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อนออกมาได้ โดยภายในวันนี้ (6 ก.ค.) น่าจะได้ข้อสรุป จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งใจร้อน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำงานทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คพ.กำลังระดมเข้าไปตรวจวัดคุณภาพอากาศและน้ำที่อยู่ตามท่อระบายน้ำเพื่อให้ทราบว่ามีสารเคมีตกค้างมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการโดยรอบที่เกิดเหตุ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะได้เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชน
ส่วนมีการตั้งข้อสังเกตว่าโรงงานดังกล่าวได้ทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ หรือไม่ นายวราวุธ ระบุว่า โรงงานดังกล่าวตั้งมา 30 กว่าปีแล้ว ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายอีไอเอ แต่ไม่แน่ใจว่าหลังมีกฎหมายแล้วได้มีการทำอีไอเอเพิ่มเติมหรือไม่ จึงขอไปหาข้อมูล ประกอบกับดูกฎหมายผังเมือง โดยต้องประสานกับกระทรวงมหาดไทยก่อน ซึ่งทราบมาว่าพื้นที่ที่ตั้งของโรงงานอยู่ในพื้นที่สีแดงที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ หลายคนสงสัยว่าทำไมโรงงานไปตั้งในชุมชนจึงต้องมาตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือโซนที่อยู่อาศัย เพราะการที่มีโรงงานกับบ้านพักติดกันเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือ โรงงานตั้งก่อนชุมชน หรือที่ชุมชนกระจายไปจนติดโรงงาน คงต้องดูผังเมือง
ส่วนกรณีที่โซเชียลมีเดียวิจารณ์อย่างมากว่านายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาล เหตุใดจึงไม่รุดลงพื้นที่ นายวราวุธ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องเรียนตรงๆว่า หากนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกหน่วยงานลงไปในพื้นที่แล้ว โดยธรรมชาติคนไทยเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ต้องแห่มาต้อนรับ โดยนายกรัฐมนตรีทราบดีว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ยิ่งจะทำให้วุ่นวายไปอีก จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงไม่ไป เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ ณ ที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร ตนเห็นว่าการที่นายกรัฐมนตรีไม่ไปนั้นถูกต้องแล้ว เพราะการบัญชาการที่ศูนย์บัญชาการเพื่อทำหน้าที่สั่งการและประสานจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานเต็มที่ เหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่นายกรัฐมนตรีไม่ไปทันที เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายและสร้างอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงขอความเห็นใจจากสังคมด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news