ศบค.ระดม69ทีมตรวจโควิดจับตา130คลัสเตอร์กทม.
ศบค.ห่วงเดลต้าระบาดเร็ว กทม.มี 130 คลัสเตอร์ เตรียมส่ง 69 ทีมลงพื้นที่ตรวจ หวังประชาชนเข้าถึงรวดเร็วกว้างขวาง
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อสายพันธุ์ G ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ส่วนสายพันธุ์อัลฟ่า หรือ สายพันธุ์อังกฤษ มีความไวกว่าสายพันธุ์ G 1.7 เท่า และ สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย มีความไวกว่าสายพันธุ์อังกฤษได้อีก 1.4 เท่า และมีรายงานผู้ติดเชื้อ 1 คน จะสามารถแพร่กระจายอย่างน้อย 6 คน จึงเห็นได้ว่าสายพันธุ์นี้จะเป็นคำอธิบายได้ว่าทั่วโลกและประเทศไทยมีแรงงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการติดได้ง่ายและแพร่กระจายได้เร็ว ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อ 6 ก.ค. สายพันธุ์เดลต้ามีการแพร่กระจายไปแล้วกว่า 104 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ พื้นที่กรุงเทพมหานครมีรายงานพบคลัสเตอร์ 130 คลัสเตอร์ และมีการพูดถึงทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ หรือ CCRT ในวันพรุ่งนี้ จะมี 69 ทีมลงพื้นที่เป็นครั้งแรก โดยส่วนสำคัญ คือ จะประกอบไปด้วยทีมจากศูนย์บริการสาธารณสุขสำนักงานเขตฝ่ายความมั่นคง NGO อาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆรวมถึงอาสาสมัครชุมชน ซึ่งจะระดมลงพื้นที่ 69 ชุมชน และจะทำให้ได้มากขึ้นครบ 200 ชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย โดยทีมที่มีความผสมผสาน ซึ่งเป้าหมายจะมีการทบทวน ในวันที่ 15-17 ก.ค.นี้ โดยจะใช้การตรวจแบบ แอนติเจน เทสต์ คิท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยหากมีผลบวกจะมีการนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว และแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ แต่หากมีผลตรวจเป็นลบ ขออย่านิ่งนอนใจ เนื่องจากการใช้แอนติเจน เทสต์ คิท ยังมีผลที่ไม่แน่นอน หากได้รับเชื้อมาใน 1-2 วันแรก จึงต้องมีการตรวจซ้ำใน 3-5 วันด้วย โดยหลักการการใช้เครื่องมือเหล่านี้หรือกระบวนการจัดการเหล่านี้จะต้องเน้นย้ำให้ประชาชนนั้นปลอดภัย บางเรื่องที่อาจมีข้อถกเถียง ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน จึงต้องขออภัย เพราะต้องแน่ใจว่าเครื่องมือเหล่านี้จะมีมาตรฐานเพียงพอต่อประชาชน
ทั้งนี้ แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า การประกาศออกความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดฉุกเฉิน คำสั่งฉบับที่ 25 ประกาศในพื้นที่ 6 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัดภาคใต้ ไม่ได้อยู่ในหลักการเดียวกัน โดยระบุว่า ร้านที่ต้องปิด แน่นอน คือ กลุ่มร้านหนังสือ, แว่นตา, เครื่องนุ่งห่ม, เสื้อผ้า, รองเท้า, เครื่องไฟฟ้า, อุปกรณ์สำนักงาน, เครื่องเขียน, เครื่องครัว, อุปกรณ์กีฬา, เครื่องสำอาง, อาหารสัตว์, คลินิกรักษาสัตว์ หากอยู่ในห้างสรรพสินค้าจะต้องปิด
ด้านสถานเสริมความงาม, ร้านตัดผม, ร้านเสริมสวยร้าน, ทำเล็บผิวหนัง, คลินิกทันตกรรม, คลินิกรักษา, ผู้มีบุตรยาก, คลินิกเวชกรรม, เสริมความงาม, ร้านบริการล้างรถ,ร้านซักรีด ทั้งหมดหากอยู่ในคอมมูนิตี้มอล์ หรือห้างสรรพสินค้าจะต้องปิด แต่หากคลินิก ที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้าจะเป็นการตัดสินใจจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงขอให้ฟังประกาศจากจังหวัดที่ตั้งอยู่ แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการได้และมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จังหวัดนั้นอาจจะมีการพิจารณาสั่งปิดในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม พบว่าคลินิกเสริมความงาม ร้านเสริมสวยต่างๆที่แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า โดยหลักการจังหวัดอาจจะอนุญาตให้เปิดได้แต่เจ้าของกิจการหรือคลินิคเหล่านั้นหลายที่ก็ปิดกิจการชั่วคราว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news