ศบค.จ่อปรับมาตรการเข้มขึ้นให้ฉีดวัคซีนไขว้ได้
ศบค. มีมติเห็นชอบฉีดวัคซีนไขว้ จ่อปรับมาตรการเข้มเข้มขึ้น ย้ำล็อกดาวน์เพียง 10 จังหวัดไม่ใช้ทั่วประเทศ ด้านนายกฯขอคณะแพทย์ทบทวนมาตรการ สธ.
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค. วาระพิเศษ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปอาจจำเป็นปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น มีการปิดกิจการบางอย่าง อาจจะปิดให้มากขึ้น ปิดมากที่สุด ทั้งนี้ต้องขอให้ติดตามมาตรการในเร็วๆ นี้ พร้อมย้ำว่าการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาเข้มงวดใน 10 จังหวัดสีแดงเข้มตามสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ล็อกดาวน์เป็นพื้นที่ ควบคุมเข้มงวดเฉพาะใน 10 จังหวัด ไม่ใช่ทั้งประเทศ แต่เมื่อทบทวนเมื่อ 5 วันที่ผ่านมาพบว่าการบังคับใช้มาตรการยังน่าเป็นห่วง วันนี้นายกรัฐมนตรีขอให้คณะแพทย์ที่ปรึกษาทบทวนมาตรการสาธารณสุข เพื่อนำเสนออย่างเร่งด่วน อาจจะมีการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากนี้
โดยที่ประชุมยังหารือการควบคุมการแพร่ระบาด คือ การตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปัจจุบันแม้อนุญาตให้ตรวจในโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และตรวจเชิงรุก วันละ 7-8 หมื่นรายก็ไม่พอ จึงอนุญาตให้ใช้ Antigen Test Kit หรือ ATK ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจ และครอบคลุมประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นการตรวจง่าย รู้ผลเร็ว ราคาไม่แพงมาก แต่มีความเป็นห่วงเรื่องความแม่นยำ เช่น รายงานว่าติดเชื้อ แต่เมื่อมาตรวจจริงกับพบว่าไม่ติดเชื้อบ้าง หรือ หากได้รับเชื้อปริมาณน้อย อาจไม่พบการติดเชื้อ จึงขอเน้นย้ำหากตรวจแล้วพบเชื้อ ขอให้ประชาชนไปติดต่อสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งจะประเมินระดับความรุนแรง โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ โดยผู้ป่วยสีเขียวจะเข้าระบบแยกกักที่บ้าน หรือ Home Isolation หรือแยกกักที่ศูนย์ดูแลโควิดชุมชน หรือ Community Isolation ซึ่งขอย้ำว่า หากพบว่าติดเชื้อต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา และหากตรวจแล้วผลเป็นลบ และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยเสี่ยงสูงต้องตรวจซ้ำในวันที่ 3 -5 จึงขอให้สำรวจอาการตัวเอง และขอให้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน ซื้อที่ร้านขายยา และสถานพยาบาล ส่วนผู้ที่ซื้อออนไลน์ ต้องระมัดระวัง เรื่องของมาตรฐานอุปกรณ์
และอีกประเด็นที่หารือ การจัดการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด โดยที่ประชุมหารือประเด็น การแยกกักที่บ้าน เน้นย้ำใช้ระหว่าง รอการแอดมิทที่โรงพยาบาล แพทย์พิจารณาว่ารักษาที่บ้านได้ ซึ่งจะได้รับอุปกรณ์ให้วัดอุณหภูมิ ตรวจวัดออกซิเจน การประเมินอาการจากบุคลากรทางการแพทย์ การจัดยาฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ ดูแลอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว โดยเงื่อนไขสำคัญ คือไม่จำเป็นต้องใช้ ออกซิเจนเทราปี่ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ อายุไม่เกิน 60 ปี ร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกินหนึ่งคน ไม่มีภาวะอ้วน และโรคอื่นร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
ส่วนการแยกกักที่ศูนย์ดูแลโควิดชุมชน หรือ Community Isolation ใช้ในกรณีการติดเชื้อในชุมชน หรือโรงงาน เหมือน โรงพยาบาลสนามในชุมชนขนาดเล็ก ไม่เกิน 200 คน และต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนก่อน มีการประเมินสิ่งแวดล้อม การระบายน้ำ และการจัดการขยะ
ทั้งนี้แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า มติที่ประชุม ศบค. เรื่องข้อสรุปวัคซีน ที่เป็นการกระตุ้น หรือ Booster Dose ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับ ซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว อนุญาตให้ฉีดแอสตราเซเนกา หรือ mRNA ได้ ส่วนของประชาชน อนุญาตให้ใช้สูตรผสมได้ อย่างเข็มแรกที่เป็นซิโนแวคสามารถฉีดกระตุ้นเข็มสอง ด้วยแอสตราเซเนกาได้ ซึ่งยืนยันว่ารับฟังผลการศึกษาจากหลายหน่วยงาน ประสิทธิภาพการควบคุมโรคเป็นที่น่าพอใจ และองค์การอนามัยโลกก็ให้การยอมรับ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news