ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่ม พื้นที่ควบคุมสูงสุด ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี,อยุธยา รวม 13 จังหวัด พร้อมขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนถึง 31 กรกฎาคม 2564
ราชกิจจานุเบกษาประกาศ คําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 10/2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็น พื้นที่ควบุคมสูงสุด และเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุมและพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลา การบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นั้น
เพื่อให้การบริหารจัดการ และเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคําสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563
เรื่อง แต่งตั้งผู้กํากับ การปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อํานวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยคําแนะนําของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
กระทรวงมหาดไทย จึงมีคําสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไป ตามมาตรการตามข้อกําหนดฯ สําหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่น สั่ง ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
บัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 10/2564 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด คือ
1.กรุงเทพมหานคร
2.จังหวัดฉะเชิงเทรา
3.จังหวัดชลบุรี
4.จังหวัดนครปฐม
5.จังหวัดนนทบุรี
6.จังหวัดนราธิวาส
7.จังหวัดปทุมธานี
8.จังหวัดปัตตานี
9.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
10.จังหวัดยะลา
11.จังหวัดสงขลา
12.จังหวัดสมุทรปราการ 1
3.จังหวัดสมุทรสาคร
พื้นที่ควบคุมสูงสุดรวมทั้งสิ้น 53 จังหวัด คือ 1.จังหวัดกระบี่ 2.จังหวัดกาญจนบุรี 3.จังหวัดกาฬสินธุ์ 4.จังหวัดกำแพงเพชร 5.จังหวัดขอนแก่น 6.จังหวัดจันทบุรี 7.จังหวัดชัยนาท 8.จังหวัดชัยภูมิ 9.จังหวัดเชียงราย 10.จังหวัดเชียงใหม่ 11.จังหวัด ตรัง 12.จังหวัดตราด 13.จังหวัดตาก 14.จังหวัดนครนายก 15.จังหวัดนครราชสีมา 16.จังหวัดนครศรีธรรมราช 17.จังหวัดนครสวรรค์ 18.จังหวัดบุรีรัมย์ 19.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 20.จังหวัด ปราจีนบุรี 21.จังหวัดพัทลุง 22.จังหวัดพิจิตร 23.จังหวัดพิษณุโลก 24.จังหวัดเพชรบุรี 25.จังหวัดเพชรบูรณ์ 26.จังหวัดมหาสารคาม 27.จังหวัดยโสธร 28.จังหวัดร้อยเอ็ด 29.จังหวัดระนอง 30.จังหวัดระยอง 31.จังหวัดราชบุรี 32.จังหวัดลพบุรี
33.จังหวัดลำปาง 34.จังหวัดลำพูน 35.จังหวัดเลย 36.จังหวัดศรีสะเกษ 37.จังหวัดสกลนคร 38.จังหวัดสตูล 39.จังหวัดสมุทรสงคราม 40.จังหวัดสระแก้ว 41.จังหวัดสระบุรี 42.จังหวัดสิงห์บุรี 43.จังหวัดสุโขทัย 44.จังหวัดสุพรรณบุรี 45.จังหวัดสุรินทร์ 46.จังหวัดหนองคาย 47.จังหวัดหนองบัวลำภู 48.จังหวัดอ่างทอง 49.จังหวัดอุดรธานี 50.จังหวัดอุทัยธานี 51.จังหวัดอุตารดิตถ์ 52.จังหวัดอุบลราชธานี 53.จังหวัดอำนาจเจริญ
พื้นที่ควบคุม รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด คือ
1.จังหวัดชุมพร 2.จังหวัดนครพนม 3.จังหวัดน่าน 4.จังหวัดบึงกาฬ 5.จังหวัดพังงา 6.จังหวัดแพร่ 7.จังหวัดพะเยา 8.จังหวัดมุกดาหาร 9.จังหวัดแม่ฮ่องสอน
10.จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พื้นที่เฝ้าระวังสูง รวมทั้งสิ้น 1 จังหวัด คือ
1.จังหวัดภูเก็ต
ราชกิจจาฯประกาศข้อกำหนด มาตรการป้องกันโควิด-19 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ราชกิจจานุเบกษาประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28)ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประเมินสถานการณ์ภายหลังการมีผลใช้บังคับของข้อกำหนด (ฉบับที่27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
ปรากฏว่ายังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่ม ของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในครอบครัวและชุมชน
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้น
จากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย
ดังต่อไปนี้
1.ความมุ่งหมายของมาตรการ มาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ ในข้อกำหนดฉบับนี้มุ่งหมายเพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด – 19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
2.การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม
จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส
จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา
3.การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้มีคำสั่งตามข้อ 2 เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น
4.กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น.
ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ
5.การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
6.การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
7.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
8.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
9.การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
10.การบูรณาการและประสานงาน เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19
11.การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อยสิบสี่วัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news