ศบค. รายงานติดเชื้อใหม่ 14,575 สะสม 467,707 เสียชีวิตอีก 114 รักษาหาย 7,775 เหลือรักษาตัวใน รพ. 143,744 ฉีดวัคซีนแล้ว 15.3 ล้าน ย้ำไฟเซอร์ที่รับบริจาคกระจายบุคลากรแพทย์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยตัวเลขสถานการณ์ประจำวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 49 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 14,575 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 13,503 ราย ผู้ป่วยในเรือนจำ 1,072 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 467,707 ราย รักษาอยู่ 143,744 ราย รักษาในโรงพยาบาล 81,808 ราย และโรงพยาบาลสนาม 61,936 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,984 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 900 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 320,152 ราย หายเพิ่ม 7,775 ราย เสียชีวิตใหม่ 114 ราย รวมเสียชีวิต 3,811 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 13,490 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 13 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก /โรงงานและในชุมชน 3,601 ราย ค้นหาเชิงรุกในเรือนจำ 1,072 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 9,889 ราย
โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นผู้ป่วยชาย 61 ราย ผู้ป่วยหญิง 53 ราย ค่ากลางอายุผู้ป่วย 64 ปี อายุระหว่าง 14-91 ปี เป็นผู้ป่วยชาวไทย 111 ราย, เมียนมา 1 ราย, กัมพูชา 1 ราย และปากีสถาน 1 ราย พบเสียชีวิตที่บ้าน 3 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 49 ราย, ปทุมธานี 12 ราย, สมุทรปราการ 11 ราย, สมุทรสาคร 6 ราย, ยะลา, สุราษฎร์ธานี, ร้อยเอ็ด, นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 3 ราย, เลย, ชัยภูมิ และอ่างทอง จังหวัดละ 2 ราย, นครปฐม, นราธิวาส, สงขลา, ตรัง, นครศรีธรรมราช, ระนอง, ขอนแก่น, นครราชสีมา, ศรีสะเกษ, อุตรดิตถ์, เพชรบุรี, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตราด และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย
ด้านยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทยรวม 15,388,939 โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 11,805,180 โดส เพิ่มขึ้น 266,314 โดส และเข็มที่สองจำนวน 3,583,759 โดส เพิ่มขึ้น 371,929 โดส
โดยแพทย์หญิงอภิสมัย ย้ำว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศมุ่งเน้นการกระจายให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ชาวต่างชาติที่สูงวัย และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และกลุ่มคนไทยที่ต้องเดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศ นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น ซึ่งต้องลงทะเบียนที่บางรัก และโรงพยาบาลบำราศนราดูร
ศบค.พบ 11% ของผู้ตรวจ ติดเชื้อโควิด เร่งนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา ขออย่าหลงเชื่อการเชิญชวน ผู้ติดเชื้อนั้นออกจากบ้าน ไปรวมตัว
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศปก.ศบค. มีการหารือเรื่องการดูแลผู้ติดเชื้อในส่วนกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อ 3,104 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ ยังไม่รวมการตรวจด้วยวิธี antigen rapid Test Kit ซึ่งมี 2,000 กว่าราย ซึ่ง 1-2 วันนี้ทาง กทม. จะรวบรวมตัวเลขการตรวจทั้งหมดเพื่อนำมารายงานให้เห็นภาพรวมทั้งหมด และจะมีการประกาศให้ประชาชนเข้าใจว่าในแต่ละเขตหรือกลุ่มเขต จะมีจุดที่สามารถให้ตรวจเชื้อทั้ง Swap หรือ antigen rapid Test Kit ที่ใด และจากตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อพบว่า จากการตรวจเช็กในพื้นที่กรุงเทพฯ 100 ราย จะมีผลบวกรายงาน พบผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 11 และหากมีประวัติเป็นผู้สัมผัสในจำนวนนี้จะมีผลยืนยันตามมาทีหลังร้อยละ 15 หรือเป็นผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือ PUI จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 25 ขณะมีผู้ป่วยที่รอเตรียมเพิ่มอีก 868 ราย
นอกจากนี้มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในขั้นสีแดง 40 ราย ซึ่งจะต้องเร่งเข้าสู่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างปลอดภัยให้เร็วที่สุด โดยเน้นย้ำว่าในจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 70 ยังเป็นจำนวนผู้ป่วยในลำดับสีเขียว ซึ่งก็ทำความเข้าใจกับประชาชนว่า หากลักษณะอาการอยู่ในสีเขียวก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องประเมินตัวเองว่า เป็นผู้มีอาการระดับใด ซึ่งสีเขียวจะเป็นผู้ที่ยังมีอาการแข็งแรงติดเชื้อ อายุน้อย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับ รสมีถ่ายเหลว แต่ไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ สามารถเข้าสู่ระบบ Home isolation ได้
ขณะที่ผู้ที่ไม่สามารถแยกกับที่บ้านได้จะมี community isolation หรือศูนย์พักคอย มีผู้เข้าระบบไปแล้ว 1682 คน โดยในวันนี้ เปิดไปแล้ว 22 เขต และกำลังจะเปิด อีก 14 เขต และอีก 14 เขตกำลังเตรียมสถานที่ จะมีสภากาชาดไทยภาคประชาสังคม NGO เข้ามาช่วยเหลือ จึงต้องขอบคุณทุกฝ่าย โดยมีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง ราชวิถี นพรัตน์ฯ เลิดสิน โรงเรียนแพทย์แห่งชน 7 แห่ง
ทั้งนี้แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า ที่ผ่านมามีข่าวการเชิญชวนให้ผู้ติดเชื้อนั้นออกจากบ้าน ไปรวมตัวกันที่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าหากเป็นผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงอาจให้อาการทรุดลงได้จึงอยากให้ผู้ป่วยนั้นอยู่บ้าน และติดต่อตามหมายเลขที่ระบุให้ และจะพยายามพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเร็วที่สุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news