ซีพี ย้ำไม่เกี่ยวข้องสั่งซื้อซิโนแวค พร้อมชี้รัฐควรแจงเหตุผลและขั้นตอน G2G อย่างโปร่งใส สยบการบิดเบือน
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ในปัจจุบัน ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ทุกประเทศในโลก ต้องจัดหาวัคซีน และ ยารักษา เป็นอันดับสำคัญ ถือเป็นการก้าวเท้าซ้ายขวาที่ต้องเดินไปพร้อมกัน โดยต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้รวดเร็ว และครอบคลุมมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อความต้องการวัคซีนทั่วโลกมีสูง การจัดซื้อวัคซีนต้องใช้กระบวนการในภาวะฉุกเฉินแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) เท่านั้น
ย้ำว่า เอกชนไม่สามารถจัดซื้อโดยตรงได้ แม้กระทั่งวัคซีนทางเลือก ก็ต้องให้ภาครัฐเป็นตัวกลางในการจัดซื้อ ดังนั้น ภาครัฐถือว่า เป็นแกนหลักในการจัดหาและบริหารวัคซีนที่ต้องคล่องตัวและโปร่งใส โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต ประชาชนเกิดความสับสนและลังเล ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเปิดแผนว่า รัฐจัดหาวัคซีน ตัวไหน มาเมื่อไร ใครจะได้ฉีดก่อนหลัง เพื่อให้ประชาชนสบายใจ และเกิดความเชื่อมั่น
วันนี้ (25 กรกฎาคม 2564) ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นไปถึง 15,335 คน และยอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 129 คน การจัดหาวัคซีนทั่วโลก ถือเป็นความท้าทายของทุกประเทศ ในขณะที่ประเทศไทย ยังมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ ประการแรก การจัดสรรวัคซีนของแอสตร้าเซเนกา ในปัจจุบันมีจำนวนแตกต่างจากที่รัฐคาดการณ์ไว้ โดยประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทำจดหมายเปิดผนึก ชี้แจงวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ว่าจะส่งมอบให้ไทยได้เพียง 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ประการที่สอง ความต้องการวัคซีน mRNA มีมาก ทำให้ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนประเภทนี้ ยังคงรอบนสภาวะความไม่แน่นอน และต้องการความมั่นใจจากภาครัฐในการจัดสรรวัคซีน และประการสุดท้าย การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมจากประเทศจีน ทำให้ประชาชนบางส่วนอาจเกิดความไม่สบายใจว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ทำไมจึงสั่งวัคซีนซิโนแวคเพิ่มในจำนวนมากกว่าที่รัฐเคยประกาศไว้ ประเด็นเหล่านี้ รัฐควรชี้แจงให้ชัดเจน โปร่งใส
ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้แถลงการณ์ไปแล้วหลายครั้ง ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาล แต่เมื่อยังคงมีกระแสบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด ทำให้ซีพี ต้องออกมายืนยันอีกครั้งว่า การจัดหาวัคซีนดังกล่าว เป็นไปภายใต้การพิจารณาของรัฐบาล และเป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ โดย เครือซีพีไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ ไม่มีผลประโยชน์ใดๆทั้งทางตรงและทางอ้อม ยืนยันตามแถลงการณ์เดิมว่า เห็นด้วยต่อการนำเข้าวัคซีนที่หลากหลาย ล่าสุดเครือซีพี ได้ใช้งบประมาณของบริษัทจัดหาวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มาจัดฉีดให้กับพนักงานด่านหน้า และในอนาคตหากมีการนำเข้าวัคซีนประเภท mRNA เข้ามาในประเทศไทย ซีพีก็พร้อมจัดซื้อวัคซีนประเภท mRNA วัคซีน Viral Vector และวัคซีนแบบเชื้อตาย จากผู้นำเข้า เพื่อมาเสริมให้กับพนักงานตามความมั่นใจของพนักงานเช่นเดียวกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news