เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์9ส.ค.นี้เน้นหมอ-บุคลากรด่านหน้า
สธ.เริ่มฉีดไฟเซอร์ 9 ส.ค.นี้ เน้น หมอ-บุคลากรด่านหน้า , ผู้สูงอายุ, 7 โรคเรื้อรัง ระบุ 1 ขวด ผสมน้ำเกลือฉีดได้ 6 โดส
นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยถึงวัคซีน mRNA คือ วัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส ขั้นตอนต่อจากนี้จะนำวัคซีนไปฉีดให้กับ 4 กลุ่ม ได้แก่
1.บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแล ผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ เป็นเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันจำนวน 700,00 โดส
2.ผู้สูงอายุ, 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไปและคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป จำนวน 645,000 โดส
3.ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (ผู้สูงอายุ, 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไปและคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป) รวมถึง คนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส และ
4.ผู้ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของ คกก.วิจัยจริยธรรม จำนวน 5,000 โดส
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ ในจำนวน 1 ขวดที่ส่งมาจากอเมริกา จะเป็นวัคซีนเข้มข้นจากนั้นจะต้องมีการผสมด้วยน้ำเกลือ 9% นอร์มัลซาไลน์ เมื่อผสมเสร็จแล้วจะฉีดได้ 6 โดส ฉีดโดสละ 0.3 มล. โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งการฉีด 2 เข็มจะห่างกันอยู่ที่ 3 สัปดาห์ ฉีดได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และต้องเก็บในอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส จะอยู่ได้ 6 เดือน หาก เก็บในอุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียสเหมือนวัคซีนอื่นๆ จะเก็บได้เพียง 1 เดือน ดังนั้น จะต้องมีการวางแผนในการเก็บรักษาอย่างดี ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวอย่างตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวันที่ 2 ส.ค. จะได้รับผลตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย จากนั้น 3-4 ส.ค. บริษัทจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับและแพ็ควัคซีนเพื่อจัดส่ง จากนั้น 5-6 ส.ค. คาดว่า จะจัดส่งวัคซีนลอตแรกเข็มกระตุ้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเข็มที่ 1
สำหรับกลุ่มเสี่ยงเป้าหมายถึงหน่วยบริการ ในวันที่ 7-8 ร.พ.เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีน และในวันที่ 9 ส.ค. หน่วยบริการเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ส่วนการฉีดเข็มที่ 2 สำหรับฉีดในปลายเดือน ส.ค. จะเริ่มจัดส่งในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้
ส่วนการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ SA คือ Sinovac เข็มที่ 1 และตามด้วย AstraZeneca เข็มที่ 2 ข้อดีจากการวิจัยพบว่าเวลาให้วัคซีนต่างชนิด ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว ประสิทธิภาพในแง่การทดสอบของห้องปฏิบัติการสูงใกล้เคียงกับการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม และทำให้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครบ 2 เข็มเร็วขึ้น จากเดิมต้องฉีด 2 เข็มในเวลา 12 สัปดาห์ เป็น 3 สัปดาห์ เป็นต้น ซึ่งผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม จากการที่มีข่าวพบว่ามีการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนสูตรผสม ต่อมามีการพิสูจน์และชันสูตรศพสาเหตุก็พบว่าไม่ได้มาจากการฉีดวัคซีน สิ่งนี้เป็นตัวยืนยันได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในระดับที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
ส่วนแผนกระจายวัคซีนในเดือนสิงหาคม จะกระจายวัคซีนไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อควบคุมการระบาดของโรค โดยฉีดกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้สูงอายุ,กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้องรัง, หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) จากนั้นจะเป็นการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายพิเศษ พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น จังหวัดพังงา, กระบี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ นพ.โอภาส ยังให้ความมั่นใจด้วยว่าวัคซีนจะกระจายถึงประชาชนอย่าง ครอบคลุม และขอเชิญชวนประชาชนมารับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกันด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news