Home
|
ทั่วไป

เจาะลึก “ โควิด / วัคซีน / เถียงนาโมเดล การสื่อสารที่ผิดพลาด หรือ จงใจบิดเบือน“

Featured Image
โครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “ Share มุมข่าวเล่าเบื้องลึกจากคนทำสื่อ “จากโควิด-๑๙ / วัคซีน การสื่อสารที่ผิดพลาด หรือ บิดเบือนเพื่อการเมือง ถึง เถียงนาโมเดล ไม่รู้ ไม่เข้า หรือ จงใจบิดเบือน

วัน ที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดเสวนา Share มุมข่าวเล่าเบื้องลึกจากคนทำสื่อ “จากโควิด-๑๙ / วัคซีน การสื่อสารที่ผิดพลาด หรือ บิดเบือนเพื่อการเมือง ถึง เถียงนาโมเดล ไม่รู้ ไม่เข้า หรือ จงใจบิดเบือน “

โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ตัวแทนจากเครือข่ายโครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาสังคม นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน เครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ นายบรรจง นะแส สมาคมรักทะเลไทย เครือข่ายประมงพื้นบ้าน นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ สื่อท้องถิ่นอีสานบิซและเครือข่ายประชาสังคมภาคอีสาน เครือข่ายนักวิชาการประกอบด้วย ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพข่าว นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค สื่อมวลชนอิสระ / ประธานชมรมผู้สื่อข่าวออนไลน์ / ที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ นายภัทระ คำพิทักษ์ สื่อมวลชนอิสระ ที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ นายมนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอิสระผู้จัดรายการวิทยุ FM ๙๖.๕ อสมท. นายสิทธิโชค เกษรทอง สื่อมวลชนอิสระ อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวและรายการวิทยุ FM ๑๐๑ นายภัทราวุธ บุญประเสริฐ แอดมินแฟนเพจเลยไทม์ออนไลน์ นางสาววริษฐา ภักดี บก. ลานนาโพสต์ออนไลน์ นายเอกรัตน์ บรรเลง ผู้สื่อข่าวอาวุโส Manager Online ภาคเหนือ นายปราการ แสนอุบล บรรณาธิการศูนย์ ไทยพีบีเอส ในภาคอีสาน ตัวแทนเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อ นายโกศล สงเนียม รักษาการประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายอิทธิพันธ์ บัวทอง กรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยมีนายสุปัน รักเชื้อ รักษาการประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยนายปราการ แสนอุบล ได้เปิดประเด็นเสวนา ถึงพื้นที่ในภาคอีสานต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องโควิด-๑๙ และวัคซีนจนถึงเถียงนาโมเดล ว่าในภาคอีสานมีความเห็นต่างทางการเมืองค่อนข้างสูง การสื่อสารข่าวจากส่วนกลาง ถ้าไม่มีความชัดเจนพอจะถูกนำไปขยายผลตามความเชื่อทางการเมืองของทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ผลกระทบจะตกอยู่กับคนในสังคมที่ต้องการข้อมูลที่ชัดเจน และเข้าใจในสถานการณ์ การสื่อสารจากภาครัฐมักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่าใช่ข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ มันต่างจากข่าวสารที่ออกมาจากหน่วยงานรัฐในส่วนกลาง เช่น มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ของส่วนกลางกับต่างจังหวัดจะต่างกันขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละจังหวัดซึ่งอิงกับสถานการณ์ในพื้นที่และเป็นอำนาจของผู้ว่าในแต่ละจังหวัดดังนั้นข้อเท็จจริงของข่าวสารจึงสวนทางกันและทำให้การสื่อสารถึงประชาชนสับสน อย่างวัคซีนที่มีการยกเลิกการฉีด การที่มีข่าวว่าอีกจังหวัดหนึ่งฉีดครบ ๒ เข็ม แต่อีกหลายจังหวัดยังไม่ได้ฉีดสักเข็ม ทำให้เป็นจุดขยายความโจมตีรัฐ ยิ่งมีการขยายความของข่าวเพื่อหวังผลทางการเมืองยิ่งทำให้น่ากังวล อย่างเรื่องเถียงนาโมเดล ที่ โฆษก ศบค. นำไปเสนอเป็นแนวคิดในการจัดการของครอบครัวและชุมชน จากการเห็นข่าวที่คนในภาคอีสานได้ดำเนินการนำเอาเถียงนามาเป็นที่พักรอดูอาการของลูกหลานที่เดินทางกลับจากกรุงเทพ และต้องกักตัว ๑๔ วัน มาเป็นต้นแบบ โดยไม่ได้ขยายรายละเอียดถึงการปรับปรุงที่พักและการจัดการรองรับในเรื่องต่าง เลยถูกตีความตามการรับรู้และสัมผัสเถียงนาของคนในท้องถิ่นว่าไม่เหมาะสมไม่สอดคล้องคนพูดไม่เข้าใจข้อเท็จจริง ไม่เข้าใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของ

นายภัทราวุธ บุญประเสริฐ นางสาววริษฐา ภักดี นายเอกรัตน์ บรรเลง ที่สะท้อนมุมมองออกมา ว่าเรื่องวัคซีนเป็นสิ่งที่สื่อสารกับคนในท้องถิ่นลำบาก เพราะมีข่าวเลื่อนการฉีดอยู่ให้เห็นตลอด การจัดการกักตัวที่เถียงนาไม่ทันกับสถานการณ์ การแพร่ระบาด เพราะเถียงนา มีอุปสรรคหลายอย่าง เช่นการเดินทางในการส่งข้าวส่งน้ำ การให้การรักษาทางการแพทย์ แม้ว่าครอบครัวและชุมชนจะมีส่วนร่วมแต่ในมุมทางการแพทย์ ทางครอบครัวและสังคมไม่อาจจัดการได้ ส่วนเรื่องการให้ข่าวสารต่อเรื่องโควิด-๑๙ จากส่วนกลางไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจและตรงประเด็นเพราะรัฐไม่เข้าใจบริบททางสังคมในแต่ละจังหวัดในแต่ละภาค

ซึ่งในประเด็นนี้นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์อย่าง ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้เสนอว่ารัฐต้องเข้าใจบริบทที่แตกต่างกันของสังคมเมืองและสังคมท้องถิ่น การจัดการมาตรการป้องกัน และ การให้ข้อมูลข่าวสาร รัฐต้องปล่อยให้ท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดแต่ละชุมชนสร้างกลไกการจัดการขึ้นมา โดยรัฐต้องสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเช่น สาธารณสุข มหาดไทย การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมประชาสัมพันธ์ ของสำนักนายก ต้องเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ กำลังคน รัฐต้องสร้างกลไกในการจัดการของท้องถิ่นขึ้นมา อย่าปิดกัน

ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่าง นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน นายบรรจง นะแส นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ มีมุมที่ไปในทิศทางเดียวกันว่า การสื่อสารของภาครัฐในส่วนกลางไม่สามารถสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะรัฐมองว่าการจัดการการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด และการให้ข้อมูลข่าวสารจากคนในท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ไม่ใช่มาตรการจากรัฐส่วนกลาง จึงไม่มีมาตรฐานหรือความน่าเชื่อถือ ในความเป็นจริงการจัดการรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการให้ข้อมูลข่าวสาร คนในชุมชนและหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นมีความชัดเจนได้รับการยอมรับและปฏิบัติได้มากกว่า อย่างเช่น เถียงนาโมเดลชาวบ้านก็ทำก่อนแล้วรัฐเอาไปขยายความการรับรู้แต่ขาดการลงรายละเอียดเลยถูกโจมตีว่าไม่เข้าใจ ตอนนี้ชุมชนขยับไม่ถึงการจัดพื้นที่พักคอยและโรงพยาบาลสนามด้วยตัวของชุมชนเอง โดยใช้วัด และโรงเรียนที่ไม่ได้ทำการเรียนการสอนมาเป็นสถานที่จัดการ และใช้การสื่อสารแบบเข้าถึงคือการให้คนในชุมชนสื่อสารกันเอง เรียกว่าเคาะประตูบ้านคุย ตอนนี้ในภาคอีสานก็มี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ส่วนทางใต้ก็มี ปอเนาะต่างๆ ตอนนี้เตรียมขอใช้โรงเรียนตาดีกา มาเป็นสถานที่จัดการ ในมุมมองของนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์

ผศ.ดร. บุปผา บุญสมสุข มองว่ารัฐต้องสร้างกลไกการสื่อสาร ๒ ทางคือวางหลักนโยบายการจัดการป้องกันการแพร่ระบาด และการจัดการแนวทางการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งต้องเปิดรับการสื่อสารจากกลไกรัฐในท้องถิ่น หรือการสื่อสารของชุมชน รัฐต้องถอยมาเป็นผู้สนับสนุน มากกว่าการจัดการ และสั่งการ เพราะบริบททางการเมือง ทางสังคม ทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ของท้องถิ่นแตกต่างกัน ในความแตกต่างที่ว่ามา แม้ว่าการจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และสื่อสารของรัฐชัดเจน แต่ก็อาจถูกบิดเบือนไปได้จากความต่างในบริบทที่กล่าวมา ส่วนสื่อเองก็ต้องปรับตัวในการนำเสนอต้องอ่านบริบทของแต่ละพื้นที่ให้ออก บางอย่างของข้อมูลหรือภาษาในการนำเสนอสื่อต้องปรับให้สอดคล้องต่อสถานการณ์และบริบททางสังคมท้องถิ่น แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสำคัญของมาตรการและข่าวที่ต้องการสื่อสาร

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube