สธ. เผย มติคณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ เสนอให้ รพ. แสดงจำนวนเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่ได้วัคซีนเพื่อความโปร่งใส
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการกระจายวัคซีนของประเทศไทย โดยตัวเลขสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 – 1 ส.ค. 64 จำนวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยแยกตามกลุ่มเป้าหมาย พบว่า
บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวนเป้าหมาย 712,000 คน ฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 จำนวน 817,144 คน คิดเป็นร้อยละ 114.8 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 705,994 คน คิดเป็นร้อยละ 99.2
เจ้าหน้าที่ด้านหน้า จำนวนเป้าหมาย 1,900,000 คน ฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 จำนวน 876,796 คน คิดเป็นร้อยละ 46.1 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 516,148 คน คิดเป็นร้อยละ 27.2
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวนเป้าหมาย 1,000,000 คน ฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 จำนวน 473,588 คน คิดเป็นร้อยละ 47.4 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 212,672 คน คิดเป็นร้อยละ 21.3
ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค จำนวนเป้าหมาย 5,350,000 คน ฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 จำนวน 1,511,348 คน คิดเป็นร้อยละ 28.2 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 255,858 คน คิดเป็นร้อยละ 4.8
ประชาชนทั่วไป จำนวนเป้าหมาย 28,538,000 คน ฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 จำนวน 7,378,691 คน คิดเป็นร้อยละ 25.9 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 2,045626 คน คิดเป็นร้อยละ 7.2
ส่วนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนเป้าหมาย 12,500,000 คน ฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 จำนวน 2,897,520 คน คิดเป็นร้อยละ 23.2 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 175,141 คน คิดเป็นร้อยละ 1.4
โดยเป้าหมายทั้งหมดคือ 50,000,000 คน ฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 จำนวน 13,955,087 คน คิดเป็นร้อยละ 27.9 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 3,911,439 คน คิดเป็นร้อยละ 7.8
จากเป้าหมายและการฉีดวัคซีนทั้งหมดพบว่าในกลุ่มของผู้สูงอายุมีการฉีดเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มอื่นประมาณ 1ใน 4 จึงมีความสำคัญมากที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งทาง กทม. ได้จัดลำดับความสำคัญใหม่ทำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุได้ตามเป้าหมายเพิ่มร้อยละ 80 และ ในอีก4 สัปดาห์จะเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุในต่างจังหวัด
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา 1,503,450 โดส ซึ่งจัดสรรให้กับกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจัดสรรให้กับกลุ่มด่านหน้าเป็นหลัก ดังนี้
1.บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแล ผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ เป็นเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันจำนวน 700,00 โดส
2.ผู้สูงอายุ, 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไปและคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป จำนวน 645,000 โดส
3.ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (ผู้สูงอายุ, 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไปและคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป) รวมถึง คนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส
4.ผู้ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของ คกก.วิจัยจริยธรรม 5,000 โดส โดยในกลุ่มนี้จะสำรองไว้ในการทำวิจัยที่เป็นประโยชน์ เช่น การศึกษาวิจัยวัคซีนไขว้ โดยมีวัคซีนไฟเซอร์ร่วมด้วย
5.สำรองไว้สำหรับการตอบโต้การระบาด จำนวน ประมาณ 3,000โดส
ส่วนการจัดสรร วัคซีนไฟเซอร์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้านั้น จะทำการสำรวจจำนวนผู้ต้องการฉีดวัคซีนในแต่ละจังหวัด โดยพิจารณาจากจำนวนรายชื่อของบุคลากรที่ได้รับจากโรงพยาบาลในทุกจังหวัดที่แสดงความประสงค์ไว้ ซึ่งวัคซีนจะเริ่มจัดสรรออกไปในวันที่ 3 ส.ค. 64 นี้ และอาจยังไม่สามารถจัดส่งไปยังทุกโรงพยาบาลได้ทันทีเนื่องจากขบวนการจัดส่งมีข้อจำกัดเรื่องของการรักษาอุณหภูมิ รวมถึงการให้บริการ 1 ขวดต่อ 6 โดส เมื่อเปิดใช้จะต้องให้คุ้มค่าครบทั้ง 6 คน ดังนั้นจะมีการกำหนดจุดให้บริการ เพื่อ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดการสูญเสีย ส่วนใน กทม. กรมควบคุมโรคจะประสานสำนักอนามัยเพื่อส่งวัคซีนไปที่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่กำหนด
ทั้งนี้ ในที่ประชุม คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ มีข้อเสนอว่า ให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้แสดงหรือประกาศจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใส เพื่อจะได้ทราบว่าฉีดไปแล้วเท่าไหร่และยังขาดอีกเท่าไหร่ ซึ่ง การติดตามในส่วนนี้ทำให้สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ด้านหน้าว่าจะได้ฉีดวัคซีนครบทุกคน รวมถึงยังเป็นการสร้างความปลอดภัยและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานต่อไปแก่บุคลากรด่านหน้า
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news