ศบค.ย้ำฉีดวัคซีนไฟเซอร์ต้องโปร่งใส
ศบค. แจงจัดสรรไฟเซอร์ตามความต้องการบุคลากรแพทย์ บริหารจัดการเตียง สีเขียว-เหลือง มีแนวโน้มลดลง ย้ำยาฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอ เพิ่งนำเข้า 7 ส.ค.อีก 2.5 ล้านแคปซูล
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ จากการสำรวจตามความต้องการของบุคลากร ขณะนี้กรมควบคุมโรคจะจัดส่งในเบื้องต้น 50- 60% ของความต้องการที่สำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจะมีการสำรวจศักยภาพการฉีดของแต่ละจุด และจะจัดสรรให้เพิ่มอย่างแน่นอน โดยตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 6 สิงหาคมที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนลอตแรก ลงไปยังหน่วยฉีดเรียบร้อยแล้ว โดยต้องเน้นย้ำว่าทุกๆจังหวัดไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลฉีดได้ แต่จะมีการกำหนดโดยฉีดโดยสสจ. เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ มีรายละเอียดเรื่องของการขนส่งการเก็บอุณหภูมิที่ถูกต้อง โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเริ่มฉีดในหลายหน่วยบริการ ส่วนนักเรียนที่ต้องการเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ ขอให้ติดต่อลงทะเบียน
ขณะที่รายละเอียดการจัดการเตียง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ณ วันที่ 8 พบว่าอัตราการรอเตียงในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการปรับระบบบริการดูแลผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่ได้รับการคัดแยกจากหน่วยปฐมภูมิจะได้รับการจัดสรรให้อยู่ใน Home isolation หรือ community isolation ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่ให้บริการระบบ isolation
มากกว่า 246 แห่ง และสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 100,000 ราย นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังประชาสัมพันธ์ไปยัง คลินิกเอกชนที่มีศักยภาพ ในการทำระบบ Home isolation ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯกว่า 3,000 แห่ง ขอให้ติดต่อไปยังกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ศูนย์แยกกักตัวในชุมชนหรือ community isolation มีการเปิดดำเนินการแล้ว 53 แห่ง จำนวน 6,359 เตียง รับผู้ป่วยไปแล้ว 3,206 ราย และคงเหลือ 3,153 เตียง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 14 แห่งคาดว่าจะมีเตียงเพิ่มขึ้น 2,527 เตียง โดยเมื่อเปิดบริการได้ทั้งหมด 67 แห่ง จะสามารถมีเตียงรองรับทั้งหมด 8,886 เตียง โดย community isolation บางจุด จะเป็นจุด community isolation Plus ที่สามารถดูแลผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง ถึง 7 แห่ง จำนวน 1,036 เตียง
โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบุษราคัมซึ่งแต่เดิมดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง มีผู้ป่วยสะสม 15,700 ราย สะสม 333 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3674 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีแดง 17 ราย กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง 346 รายและกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน 3,311 ราย
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีการปรับเตียง จากโรงพยาบาลหลักภาครัฐและเอกชน รองรับพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 14 แห่ง 7000 กว่าเตียง นอกจากนี้ยังมี Hospital หรือโรงพยาบาลสนาม ให้ดูแลกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองได้ จะมีเตียงเพิ่มขึ้นจำนวน 2,000 กว่าเตียง รวมทั้งโรงพยาบาลที่เป็น Hospital ทุกแห่ง จะปรับให้สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอ่อนได้ด้วย ซึ่งจะสามารถเพิ่มเตียงได้อีก 4,000 เตียง
ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ประชุมยืนยันว่าสต๊อกยาโดยองค์การเภสัช มีการนำเข้าที่เพียงพอ 7 ส.ค.มีการนำเข้ามา 2.5 ล้านแคปซูล แต่ขอน้อมรับข้อร้องเรียนที่อาจได้รับยาไม่ทันท่วงที ซึ่งเป็นผลมาจากการกระจาย โดยทีมบริหารจัดการพยายามเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ที่ประชุมศปก.ศบค.มีการหารือในกรณีการตรวจ RT PCR ซึ่งก่อนหน้านี้หากผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ได้ผล ATK จากการตรวจเชิงลบเป็นบวก อาจถูกปฏิเสธการรักษาจากสถานพยาบาล โดยให้ไปตรวจผล RT PCR ก่อน เพื่อยืนยันผลการติดเชื้อ ซึ่งที่ประชุม EOC สาธารณสุขสรุปว่าการดำเนินงานผล ATK สามารถเข้ารับการรักษาใน Home isolation ได้ทันที และไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษา โดยผลตรวจผู้ป่วย PUI พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบมีการติดเชื้อ 40% ในพื้นที่ต่างจังหวัด 25% หากผลการตรวจ ATK พบผลเป็นบวกอยู่ที่ 10-14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโรงพยาบาลรัฐได้มีหนังสือจากกรมการแพทย์แจ้งแนวทางปฏิบัติดูแลผู้ป่วยที่มีผลตรวจหาเชื้อ ATK เป็นบวก เรียบร้อยแล้ว โดยให้รับผู้ป่วยเข้าในระบบ ci และเซ็นใบยินยอมการรักษา แยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยรายอื่นก่อน โดยหากทำ pcr แล้วพบเป็นบวก จะให้สามารถร่วมกับผู้อื่นได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news