ศบค.รายงานไทยอันดับ 35 โลก ป่วยโควิดใหม่ 23,418 ราย สะสม 863,189 ตายอีก 184 หายแล้ว 643,884 เหลือรักษาในโรงพยาบาล 212,179 คน ฉีดวัคซีน 22.5 ล้านโดส
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยตัวเลขสถานการณ์ประจำวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 23,418 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 23,030 ราย ผู้ป่วยในเรือนจำ 388 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 863,189 ราย รักษาอยู่ 212,179 ราย รักษาในโรงพยาบาล 61,299 ราย และโรงพยาบาลสนาม 150,880 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,565 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 1,111 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 643,884 ราย หายเพิ่ม 20,083 ราย เสียชีวิตใหม่ 184 ราย รวมเสียชีวิต 7,126 คน
ผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นผู้ป่วยชาย 100 ราย ผู้ป่วยหญิง 84 ราย เป็นชาวไทย 177 ราย, เมียนมา 5 ราย, ลาวและอินเดีย ประเทศละ 1 ราย แบ่งเป็น
กรุงเทพมหานคร 71 ราย ปริมณฑล รวม 34 ราย แบ่งเป็นสมุทรสาคร 16 ราย, สมุทรปราการ 12 รายและนครปฐม 6 ราย
ภาคใต้ 13 ราย แบ่งเป็น นราธิวาสและนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 5 ราย, ยะลา 3 ราย, ปัตตานีและระนองจังหวัดละ 1 ราย
ภาคอีสาน 18 ราย แบ่งเป็น อุดรธานี 4 ราย, อุบลราชธานี, ขอนแก่น จังหวัดละ 3 ราย, เลยและอำนาจเจริญ จังหวัดละ 2 ราย, กาฬสินธุ์, ยโสธร, ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย
ภาคเหนือ 16 ราย แบ่งเป็น ตาก 4 ราย,เพชรบูรณ์และชัยนาท จังหวัดละ 3 ราย, นครสวรรค์และกำแพงเพชร จังหวัดละ 2 ราย, พิษณุโลกและอุทัยธานี จังหวัดละ 1 ราย
ภาคกลาง 32 ราย แบ่งเป็น ราชบุรีและสุพรรณบุรี จังหวัดละ 7 ราย, สระบุรี 6 ราย, ปราจีนบุรี 4 ราย, สิงห์บุรีและนครนายก จังหวัดละ 2 ราย, จันทบุรี, ชลบุรี, ระยองและประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย
สำหรับ ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 23,021 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 9 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก โรงงานและในชุมชน 5,379 ราย ค้นหาเชิงรุกในเรือนจำ 388 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 17,642 ราย
ส่วนการฉีดวัคซีนในประเทศไทยรวม 22,508,659 โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 17,239,593 ราย เพิ่มขึ้น 171,488 ราย เข็มที่สองจำนวน 4,855,000 รายเพิ่มขึ้น 28,359 รายและเข็มที่สามสะสมจำนวน 414,066 ราย เพิ่มขึ้น 19,993 ราย พร้มย้ำ อยากให้กับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ต้องได้รับวัคซีนโดยเร็ว เพื่อช่วยให้มีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยลง
ศบค. ขอความร่วมมือประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อให้การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำการบริหารวัคซีนไฟเซอร์มีความโปร่งใส ไม่มีวัคซีนสูญหาย
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยว่า การคาดการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขหากไม่มีการล็อกดาวน์จะเกิดการติดเชื้อในช่วงปลาย ส.ค. จนถึง ก.ย. จำนวน 6หมื่น-7หมื่นราย หากล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 20% สถานการณ์ยังสูงอยู่คาดการณ์มีการติดเชื้อ 45,000 ราย ในช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือน ก.ย. ซึ่งยังถือว่าตัวเลขยังสูงอยู่ ซี่งหากเพิ่มมาตรการเป็น 25% ล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 2 เดือน โดยต้องเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ และกลุ่มเป้าหมาย อีก 1-2 เดือน ก็ยังพบผู้ติดเชื้อ 1หมื่น-2 หมื่นราย โดยหากทำได้ก็จะมีการใช้เตียงและทรัพยากรน้อยลง จึงขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ
ขณะที่ การคาดการณ์การเสียชีวิตรายวัน พบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันหากทุกคนร่วมมือกัน จะทำให้การเสียชีวิตนั้นลดลง แต่ต้องยอมรับว่าบางพื้นที่ยังไม่ได้รับความร่วมมือยังคงพบการลักลอบเล่นการพนันและดื่มสุรา จึงขอความร่วมมือทุกคนร่วมแรงร่วมใจ เพราะการร่วมกันสู้กับโรคระบาดคนใดคนหนึ่งทำไม่สำเร็จจะต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ
ส่วนการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการตามข้อเสนอต่างๆนั้น นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้รับเรื่องต่างๆเข้ามา และร่วมงานกับที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้ามาพิจารณาว่ามีผลต่อการป้องกันควบคุมโรคหรือไม่ โดยจะมองในภาพรวม ภาพย่อยและตัดสินใจ โดยในวันจันทร์ที่จะถึงนี้(16 ส.ค.64) จะมีการประชุม ศบค.ในช่วงบ่าย
ด้านนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข รายงาน การบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส โดยย้ำว่านโยบายในการบริหารนั้นมีความโปร่งใส และไม่มีวัคซีนใดที่มีการสูญหาย ยืนยันว่าสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการฉีดวัคซีนให้กลุ่ม VIP แต่อย่างใด โดยหากประชาชนนั้นมีข้อสงสัยสามารถแจ้งเข้ามาเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
ซึ่งวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาจำนวน 1,503,450 โดส มีการแบ่งอย่างชัดเจน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสผู้ป่วยจำนวน 700,000 โดส จัดสรรลงไปยังพื้นที่แพร่ระบาด 645,000 โดส ศึกษาวิจัย 5,000 โดส ให้กลุ่มประชากรที่กระทรวงการต่างประเทศดูแล อีก 150,000 โดส
ขณะที่การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนโดส ในพื้นที่ 77 จังหวัด จะแบ่งการจัดส่งเป็น 2 รอบรอบแรกจะส่งไปแล้ว ในวันที่ 4-5 ส.ค.64 จำนวน 442,800 โดส และการจัดส่งรอบที่ 2 จำนวน 257,200 โดส ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.64 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะกระจายทุกที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค.64 โดยมีการติดตามข้อมูลมาตลอด เนื่องจากข้อมูลที่ดูในฐานข้อมูลและปริมาณการฉีดของแต่ละพื้นที่ที่ได้ไปจะเป็นส่วนสำคัญ โดยบุคลากรทางการแพทย์ท่านใดที่มีความเสี่ยงแต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนขอให้แจ้งไปยังผู้บริหารเพื่อที่จะดูหลักเกณฑ์ เข้ามายังกระทรวง ยืนยันว่าหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนทุกคน พร้อมกับอธิบายว่าการทยอยส่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การจัดเก็บดูแลวัคซีน
ทั้งนี้ กรณีที่เป็นข่าวที่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บางคลานจังหวัดพิจิตร เป็นเพศชาย อายุ 44 ปี เสียชีวิต ในวันที่ 11 ส.ค.64 หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64 ที่ผ่านมา จึงต้องแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัว พร้อมกับระบุว่าบุคลากรท่านนั้น เสียสละทุ่มเทในการทำงาน และอาจด้วยความเสี่ยงในเรื่องของสุขภาพจึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเกิดขึ้น ดูรายละเอียดการเสียชีวิตหลังชันสูตร จะได้รวบรวมข้อมูลนำเข้าสู่คณะกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิสูจน์ต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news