Home
|
ทั่วไป

“fake news” ในนิยาม ความหมายของคนทำสื่อออนไลน์

Featured Image
โครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยสนับสนุน โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนา “ fake news ในนิยาม ความหมายของคนทำสื่อออนไลน์”

 

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๕  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนา “ fake news ในนิยาม ความหมายของคนทำสื่อออนไลน์” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ตัวแทนจากเครือข่ายโครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาสังคม

นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน เครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดน นายเจริญลักษณ์ เพชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า /บรรณาธิการอำนวยการเพลฟอร์มสื่อออนไลน์อีสานบิซ เครือข่ายนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)

เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพข่าว นายทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล บรรณาธิการดิจิทัล TNN World นายสิทธิโชค เกษรทอง สื่อมวลชนอิสระ อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวและรายการวิทยุ FM ๑๐๑  นายภัทราวุธ  บุญประเสริฐ  แอดมินแฟนเพจเลยไทม์ออนไลน์

นางสาววริษฐา ภักดี บรรณาธิการลานนาโพสต์ออนไลน์ นายศักดา จิวัธยากูล บรรณาธิการบริหารกองบรรณาธิการข่าวสำนักข่าว INN

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นายโกศล สงเนียม  รักษาการประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  นายอิทธิพันธ์ บัวทอง กรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค สื่อมวลชนอิสระ / ประธานชมรมผู้สื่อข่าวออนไลน์  ที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบข่าวปลอม โดยมี นายสุปัน รักเชื้อ  รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

เปิดการเสวนาด้วยนายทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล กล่าวถึง “fake news ในนิยาม ความหมายของคนทำสื่อออนไลน์ “ น่าจะมาจาก ข่าวเสียดสี ข่าวไม่มีคุณภาพ ข่าวโฆษณาชวนเชื่อ โฆษณาในข่าวหรือข่าวปลอม ข่าวที่ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีแหล่งข่าว ที่คนให้ข่าว มีแต่เนื้อหาข่าวลอยๆ ในนิยามที่ว่ามา จะทำให้ความน่าเชื่อถือของข่าวลดลง ไม่ได้รับการยอมรับ และถูกตั้งคำถามหรือถูกตรวจสอบมากขึ้นจากผู้บริโภคข่าว แหล่งที่มาของข่าวเฟคนิวส์ จะมาจากสื่อโซเชียลทั้งหลาย มีทั้งการตั้งใจสร้างเฟคนิวส์ และมาจากการไม่รู้ของผู้ปล่อยข่าวแชร์ข่าว ผลกระทบที่จะตามมาจากการรับข่าวเฟคนิวส์ คือ ประชาชนเมื่อได้รับข่าวสารจะตั้งคำถามทันที่ว่าข่าวนี้เป็นจริงหรือ ใช่หรือ แล้วก็จะเช็กข่าว โดยเช็กจากแหล่งข่าวหลักเช่นสำนักข่าวที่เป็นสื่อหลัก สถานีโทรทัศน์ เพราผู้บริโภคข่าวมีความเชื่อมั่นว่า ข่าวที่มาจากแหล่งเหล่านี้มีกระบวนการในการตรวจสอบข่าว และคัดสรรข่าวในการนำเสนอ แต่ถ้าผู้ผลิตสื่อจากโทรทัศน์ จาก สำนักข่าวหลัก ขาดการตรวจสอบข้อมูล ความถูกต้องของข่าว ข่าวสารต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาจะถูกด้อยค่าลงไปจากความรู้สึกของผู้บริโภคข่าว แม้ว่าบางทีข่าวนั้นจะดีอย่างไร แม้จะเป็นข่าวจริงแต่ก็ถูกด้อยค่าจากความรู้สึกว่าเชื่อได้ไหม?  ในปัจจุบันแม้จะเต็มไปด้วยข่าวเฟคนิวส์ แต่ประชาชนก็เลือกที่จะเสพข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือ ไม่อ่านข่าวหรือติดตามข่าวจากเพจข่าว หรือ สื่อออนไลน์ที่ตัวเองไม่รู้จัก ปัจจัยที่ทำให้เกิดเฟคนิวส์น่าจะมาจาก ๒ ปัจจัยหลัก คือ “ การเมือง และธุรกิจ “ ที่ทั้ง ๒ ปัจจัย ผู้สร้างเฟคนิวส์หวังผล ทางการเมือง และ รายได้ สื่อหลักยังเป็นส่วนสำคัญของการนำเสนอและการตรวจสอบข่าวปลอม การทำข่าวหรือเผยแพร่ข่าวต้องชัดเจน ไม่ทำข่าวหรือเผยแพร่ข่าวที่ไม่มีแหล่งข่าว ไม่มีที่มาของข่าว  เพราะจะถูกตีค่าว่าเป็นข่าวไม่มีคุณภาพ จากประสบการณ์การทำงานกับสำนักข่าวในประเทศและต่างประเทศ มีข้อสรุปอย่างหนึ่งคือ “ ผู้บริโภคข่าวในต่างประเทศจะถ้าสงสัยจะเช็กข่าวเลย แต่คนไทยเมื่อรับข่าวสารแล้วจะเชื่อเลย “

ด้าน นายภัทราวุธ  บุญประเสริฐ  นางสาว วริษฐา ภักดี มองถึงกระแสข่าวเฟคนิวส์ ในต่างจังหวัดว่า เป็นข่าวที่หวังผลการเมือง และ ธุรกิจ หรือ การทำลายชื่อเสียงกัน  และต้องการยอดไลค์ เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดและรายได้ ที่มาของข่าวเฟคนิวส์คือเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ข่าวต่างๆ เว็บไซต์ข่าวปลอมมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เมื่อมีข่าวออกมามีข้อมูลข่าวที่คลาดเคลื่อน แต่ใครจะเป็นคนหรือหน่วยงานที่จะบอกว่า ข่าวนี้ไม่ใช่ข่าวนี้ปลอม และกว่าจะออกมาชี้แจงเวลามันก็ทิ้งช่วงออกไป คนที่แชร์ คนที่ก็อปข่าวไปเผยแพร่ มันก็ไปทั่วแล้วทำให้เฟคนิวส์กระจายไปได้มากกว่าข้อเท็จจริง

 

ด้านนายระวี ตะวันธรงค์ กล่าวว่า เฟคนิวส์ที่เราเห็นอยู่ในสื่อหลายๆ ชนิด น่าจะมาจากบ้านเราไม่มีบทบัญญัติ หรือคัมภีร์ เหมือนๆ นานาประเทศเขาที่เขาจะมีข้อคิดเห็นหลักการอะไรในการทำข่าวผลิตข่าว ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรเข้าข่ายเฟคนิวส์ อะไรเป็นข่าวปลอม ซึ่งคนข่าวบ้านเราทำงานกันมาตามความเข้าใจเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณแบบบอกกล่าว หรือ เชื่อตามกันมา จึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ถ้าจะบอกจากพื้นฐานนี้คงจะมองเห็นว่าเฟคนิวส์มาจากไหน ซึ่งมาได้จากภาครัฐและเอกชนแล้วถูกแพร่กระจากไปบนโซเชียลตามความเชื่อของคน ทั้งคนในสื่อ และประชาชนทั่วไป ที่ยังยึดอยู่กับความเชื่อแบบยึดติด กับเครือญาติ มาที่ช่องทางการสื่อสารที่บอกว่าทุกคนเป็นสื่อ และผลิตสื่อได้ด้วย ซึ่งมันมีหลายมิติ และคนที่รับข่าวสาร ก็ไม่ได้แยกออกได้ว่า คนที่เผยแพร่ข่าว เป็นนักข่าว เป็นสำนักข่าว เป็นเพจข่าว หรือ เขาโพสต์ หรือ เขานำเสนอเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่สื่อ

ผช.ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม ได้มองถึงเฟคนิวส์ ที่จะมาจากข่าวของสำนักข่าว ยังไม่น่ากลัวมากเท่ากับเฟคนิวส์ของของข่าวที่เผยแพร่ออกมาแบบข้อมูลจริงไม่ครบมีข้อมูลความจริงบางส่วน ที่มากับสื่อออนไลน์  ในการตรวจสอบสื่อหลักจะช่วยได้เยอะแต่ต้องมีการจัดการเรื่องข้อมูล และเวลานำเสนอ ข่าวเฟคนิวส์ที่มาจากสื่อออนไลน์ จะถูกนำไปตรวจสอบเทียบเคียงกับสื่อหลักดังนั้น ถ้าสื่อหลักเอาข่าวหรือข้อมูลมาจากสื่อโซเชียลมาเผยแพร่เมื่อผู้รับข่าวไปเช็กไปตรวจสอบก็จะเชื่อเพราะสื่อหลักก็ลงข่าวนี้ข้อมูลนี้ด้วยเหมือนกัน  เป็นไปได้ไหม? ที่สื่อหลักจะรอข้อมูลข่าวให้ครบหรือสร้างพื้นที่ที่ข่าวเรื่องเดียวสามารถอ่านได้ครบ อีกประเด็นคือ นักข่าวบางทีการโพสต์ การแสดงความคิดเห็นต่อข่าวต่อเหตุที่เกิดขึ้นมันเป็นการสร้างความเชื่อให้กับผู้รับข่าวเพราะเขาจะคิดว่านี่ขนาดนักข่าวยังเห็นเหมือนเรา ประเด็นตรงนี้ก็สำคัญ อีกอย่างเวลาสื่อหลักทำอินโฟกราฟิกออกมาอธิบายความกับข่าวพอเผยแพร่ออกมา แต่คนที่แชร์ไปเอาไปแต่ภาพ แต่ข้อความข่าว ตั้งแต่พาดหัวและโปรยข่าวไปด้วย และก็เอาไปเติมข้อความเอง อธิบายความเอง ก็เลยกลายเป็นเฟคนิวส์จากความเชื่อของแต่ละคน สิ่งเหล่านี้เราจะหาทางแก้กันอย่างไรในสื่อหลัก เพราะประชาชนเองก็จะตีความของภาพตามความรู้สึก

ด้านนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ และ นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค เสนอว่า การลดการแพร่ระบาดของเฟคนิวส์คงต้องมองถึงที่มาของข่าว ต้นต่อข่าวมากจากไหน? ใครให้ข่าว เพราะนี่คือที่มาของข่าวเฟคนิวส์ ข่าวปลอม เช่น ข่าวมาจากเอกสารแจก เอกสารจากวงสัมมนา เสวนา แหล่งข่าวไม่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นโดยตรง และนักข่าวเก็บประเด็นไม่ครบ นำเสนอไม่รอบด้านขาดทักษะในการตรวจสอบข้อมูล เมื่อทำข่าวออกมามันก็เข้าข่ายเฟคนิวส์  เราต้องยอมรับว่าข่าวและข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ มันมีครบรส ทั้งภาพและเสียงที่ตัดต่อแต่งเติมได้ตามอารมณ์ของคนเสนอ และสร้างความเร้าอารมณ์ของความเชื่อ

ส่วนนายมูฮำมัดอายุป ปาทาน กลับเสนอว่า “ เราจะไม่ใช้คำว่าเฟคนิวส์ หรือข่าวปลอมกับข่าวสารที่มาจากสื่อหลักได้หรือไม่ “ เราน่าจะใช้คำว่า “ ข่าวที่ผิดปรกติทางข้อมูล “ ได้ไหม? เพราะข่าวที่มันเป็นปัญหาคือข่าวที่มันมีข่าวสารที่คลาดเคลื่อน ถ้าเราใช้คำว่าเฟคนิวส์ มันเหมือนเป็นการด้อยค่าข่าวและการทำข่าวของคนในสื่อหลัก การเชื่อข่าวสารที่ได้รับมาจากความเชื่อมากกว่าเหตุผล สิ่งหนึ่งที่จะช่วยหยุดข่าวที่มีข้อมูลไม่ปรกติ คือต้องสร้างความรู้หรือฐานข้อมูลในการนำพิจารณาข่าวของผู้รับข่าว การสร้างการตรวจสอบข้อมูลข่าวทุกระดับของโครงสร้างของข่าว ตั้งแต่ นักข่าว บก.ข่าว กลไกสำนักข่าว และผู้รับข่าว

ด้าน ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ เสนอว่าการมองข่าวเฟคนิวส์ หรือข่าวปลอมต้องยกระดับความเข้าใจทั้งหมด ตั้งแต่แหล่งข่าว คนให้ข่าว จากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน รวมไปจนถึงนักข่าวและกองบก.ข่าว ต้องชัดเจนในข้อมูลการจัดเวลาในการนำเสนอที่มีความคืบหน้าของข่าว มากกว่าจะนำเสนอข่าวซ้ำๆ  ข่าวเดิมแต่ถ้ามีข้อมูลใหม่ต้องถูกนำเสนอและกล่าวถึง การจัดการเวลาและข่าวสารกองบก.ทำได้ กองบก. ต้องเรียนรู้ในการปรับตัว  ในส่วนของคนเรียนนิเทศศาสตร์ และประชาชนต้องมีข้อมูลในการทำข่าว และตรวจสอบข่าวที่จะไม่ให้เฟคนิวส์เกิดขึ้นและแพร่กระจาย

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube