ศบค. ยัน กทม. ปริมณฑลยอดติดเชื้อเริ่มคงที่ ขอประชาชนไม่ประมาท ฉีดวัคซีนแล้วต้องใส่แมสก์ ขณะเสียชีวิตต่างจังหวัดค่อนข้างสูงขึ้น ลุยฉีดวัคซีนไขว้
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า การรายงานผู้ติดเชื้อรายวัน จะเห็นว่าตัวเลขกราฟของ กทม. และจังหวัดปริมณฑลอยู่ที่ 41% ส่วนต่างจังหวัดอยู่ที่ 59% ซึ่งมีแนวโน้มคงที่ โดยกราฟไม่ได้ส่งขึ้นเหมือนเมื่อก่อน แต่ย้ำว่าแม้จะมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ประมาทไม่ได้ โดยสามารถที่จะเป็นผู้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการเสียชีวิตรายวัน ในส่วนของต่างจังหวัดอื่นๆ ค่อนข้างสูงขึ้น หากเทียบกับ กทม. และปริมณฑล
ส่วนผลการศึกษาการฉีดวัคซีนไขว้ และการกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 ต่อการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า จากกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์รวมกับศิริราชพยาบาล พบระดับภูมิคุ้มกัน ในการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เท่ากับ 24.31 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็ม เท่ากับ 76.52 ฉีดวัคซีนไขว้วัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 ตามด้วยวัคซีนแอสตราเซนเนกา เข็ม 2 เท่ากับ 78.65 และฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นภูมิเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซนเนกา มีค่าภูมิคุ้มกันสูงขึ้นถึง 271.17 ดังนั้น จึงเป็นที่มาที่กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำ การฉีดวัคซีนไขว้หรือสลับยี่ห้อ โดยการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 ตามด้วยวัคซีนแอสตราเซนเนกา เข็ม 2 ทั้งนี้ ในการประชุม ศบค.ชุดเล็ก
ทาง กทม. ได้พร้อมรับนโยบายนี้ไปปฏิบัติ โดยพบว่าการกระตุ้นภูมิด้วยการฉีดวัคซีนไขว้ได้ผลดี และใช้ระยะเวลาฉีดระหว่างเข็ม 1 และเข็ม2 เพียง 3 สัปดาห์นั้นมีความเหมาะสมกับบริบทการติดเชื้อ สายพันธุ์เดลต้าที่มีการระบาดเป็นวงกว้างทั้งประเทศ
ศบค.แถลงป่วยใหม่ 19,851 สะสม 1,009,710 ราย เสียชีวิต 240 โดยพบ กทม.ยังติดเชื้อสูงสุด ขณะ ฉีดวัคซีนแล้ว 25.8 ล้านโดส
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ประจำวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 19,851 ราย แบ่งไปติดเชื้อภายในประเทศ 19,516 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 ราย และจากเรือนจำหรือสถานที่ต้องขัง 325 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 1,009,710 ราย หายป่วยแล้วเพิ่มขึ้น 20,478 ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ และป่วยสะสม ราย 795,805 ขณะที่รักษาตัวอยู่ 205,079 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวในโรงพยาบาลหลัก 46,023 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 159,056 ราย อาการหนัก5,388ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ ราย 1,161 มีเสียชีวิตเพิ่ม 240 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 8,826 ราย
ขณะที่รายงานการเข้ารับการฉีดวัคซีนสะสม 25,816,666 โดส ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สะสมจำนวน 19,586,009 คน ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สะสมจำนวน 5,705,200 คนและฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 สะสมจำนวน 527,457 คน
ทั้งนี้ ผลบวกจากการตรวจ Antigen Rapid Test Kit ทั่วประเทศ ข้อมูลวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พบติดเชื้อ 7,210 ราย โดยต้องรอการตรวจยืนยันด้วยRT-PCR ซึ่งกรุงเทพฯ ยังเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
ด้านผู้เสียชีวิตจำนวน 240 ราย แบ่งเป็นชาย 129 ราย หญิง 111 ราย สัญชาติไทย 234 ราย เมียนมา 5 ราย และจีน 1 ราย โดยมีค่ากลางอายุ 68 ปี ระหว่าง7 เดือน – 93 ปี แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเสียชีวิต 162 ราย อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรังเสียชีวิต 46 ราย ไม่มีโรคเรื้อรังเสียชีวิต 30 ราย และเด็ก 2 รายโดยไม่มีการเสียชีวิตคาบ้าน
ศบค.ยันผู้ป่วยรอเตียงเริ่มลด ขอบคุณบุคลากร จำนวนมากทั้งภาครัฐภาคประชาสังคมที่ช่วยกันเปิด CI
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. กล่าวถึงกรณีที่เมื่อมีการค้นเจอผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่ว่าจะยืนยันด้วย ATK หรือ RT-PCR ระบบการดูแลผู้ป่วย ที่มีความจำเป็นตอนนี้สามารถรองรับหรือไม่ ว่า เมื่อมีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบ Home isolation (HI) และ Community isolation (CI) ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 80-90% ได้รับการดูแลที่บ้านและชุมชน จึงทำให้มีเตียงระดับสีเหลืองและสีแดงว่างขึ้น สามารถทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะรุนแรงฉุกเฉินเข้าถึงเตียงได้มากขึ้น และเห็นชัดเจนขึ้นว่าในสัปดาห์นี้ผู้ป่วยสีแดงรอเตียงลดลง สิ่งสำคัญจะพยายามทำให้ระยะเวลาการรอเตียงภายในวันเดียว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล ทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณบุคลากร จำนวนมากทั้งภาครัฐภาคประชาสังคมที่ช่วยกันเปิด CI ที่ขณะนี้ในพื้นที่ กทม. มีทั้งหมด 70 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 9,426 เตียง ทำให้พื้นที่การดูแลผู้ป่วยสีเขียว ในโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล ปรับไปดูแลผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน หรือจำเป็นต้องดูแลด้วยการใช้ออกซิเจน และโรงพยาบาลบุษราคัม ก็ปรับไปดูแลผู้ป่วยสีเหลืองเข้ม ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยห้องความดันลบ และต้องการเครื่องออกซิเจน High Flow พร้อมได้ปรับให้เป็น สถานที่ดูแลผู้ป่วยสีแดง ซึ่งรวมไปถึงโรงพยาบาล 132 แห่งใน กทม. ที่ถึงแม้จำนวนเตียงจะค่อนข้างเต็มแต่ ทิศทางหลังจากนี้จะมีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยสีแดงได้มากขึ้น
ขณะที่ HI ใน กทม. ขณะนี้ มีหน่วย ปฐมภูมิที่ช่วยดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านรวมทั้งสิ้น 262 หน่วย นอกจากนี้ ยังมีทีม CCRT เดินเท้าไปทุกที่ ทุกชุมชนเพื่อค้นหาผู้ป่วยด้วยการตรวจ RTK นำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ ได้มีการตรวจไปแล้ว 40,280 ราย มีผลบวก 4,701 ราย คิดเป็น 11.67% สิ่งสำคัญเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้วได้มีการจัดสรร รักษาแบบ HI ทันที โดยไม่ต้องรอผล RT-PCR ยกเว้นผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ ก็สามารถเข้ารับการดูแลแบบ CI ได้ทันที โดยไม่ต้องรอผล RT-PCR
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news