Home
|
ทั่วไป

วุฒิสภาพิจารณารายงานผลดำเนินงานกองทุนพัฒนาสื่อฯ

Featured Image
วุฒิสภา พิจารณารายงานผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขณะที่ผู้จัดการกองทุนฯ แจงขับเคลื่อนผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ หวังให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อ การสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(8 กันยายน 2564) นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ 2558

โดยระบุว่าในปี 2563 กองทุนมีคะแนนรวม 4.77 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 โดยตลอดการทำงานที่ผ่านมา กองทุนฯยังคงยึดมั่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายคือการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็น สำหรับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาคประชาชนได้มีส่วนในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรลุเป้าหมายให้สังคมมีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ภายใต้สภาพแวดล้อมของสื่อที่ดี

ทั้งนี้ กองทุนได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ /ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อ /ยุทธศาสตร์การส่งเสริมทักษะในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสุดท้ายคือยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยทางกองทุนพร้อมที่จะรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะและข้อเสียต่าง ๆ ของสมาชิกเพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินการให้มีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพต่อไป

จากนั้น นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรมจริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม ชี้แจงรายงานการพิจารณาศึกษาของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2563 โดยชื่นชมการทำงานของกองทุนที่ได้ดำเนินการส่งเสริมโครงการต่อยอดที่มีคุณภาพและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

โดยทางกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการรวบรวมประเด็นข้อเสนอแนะและข้อสังเกต อาทิ ในปี 2563 กองทุน มีแผนการดำเนินการตามทิศทางที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ของกองทุนปี 2561-2565 ทั้ง 4 ด้าน 19 ตัวชี้วัด ซึ่งเห็นว่าไม่ปรากฏในรายงานผลการดำเนินงานหรือความก้าวหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ซึ่งหากมีการรายงานผลในแต่ละปีตามตัวชี้วัดดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการทบทวนความก้าวหน้าว่าบรรลุตัวชี้วัดหรือไม่ ขณะที่การรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ พบว่าผลการประเมินกองทุนได้คะแนน 84.08 เกรดB ไม่ผ่านเกณฑ์เป้าหมายแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบจึงควรทบทวนกระบวนการสนับสนุนโครงการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างโปร่งใสเป็นธรรมเปิดโอกาสให้ผู้ขอรับทุนได้มีส่วนในการนำเสนอและชี้แจงเหตุผลในการขอรับทุนโดยให้คำแนะนำแนวทางและวิธีปฏิบัติในการขอรับทุน

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้กองทุนทบทวนและพัฒนานิยามของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ของกองทุนในมิติของสื่อศิลปะและวัฒนธรรมเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูพัฒนา ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีงาม รวมทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อกิจกรรมศิลปะวัฒนธรรม

ขณะที่สมาชิกได้อภิปรายพร้อมฝากข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นไปยังกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย ทั้งประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรเงินทุนในการสนับสนุน ว่าสื่อที่ได้รับทุนนั้นสามารถดำเนินการตรงเป้าหมายและมีผลต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่นายชาญวิทย์ ผลชีวิน สมาชิกวุฒิสภา ชื่นชมการทำงานของกองทุนแต่มีข้อเสนอแนะไปยังกองทุนว่าวันนี้ต้องยอมรับว่าสื่อมีอิทธิพลต่อประชาชน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสงครามข่าวสาร ว่าวันนี้จะทำอย่างไรหรือเรียนรู้อย่างไรว่าอันไหนคือเขาจริง อันไหนคือข่าวบิดเบือน พร้อมยกตัวอย่างการบิดเบือนข่าวที่กระทบต่อสถาบัน ข่าวสถานการณ์โควิด 19 อันนี้เป็นประเด็นที่น่ากังวลต่อสังคม โดยเฉพาะในปัจจุบันมีสื่อที่หลากหลายทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ พร้อมเสนอให้กองทุนมีเวทีกลาง หรือสื่อกลางเพื่อเป็นช่องทางในการเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ สมาชิกยังมีข้อเสนอไปยังกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หาแนวทางส่งเสริมสนับสนุน บุคคลหรือองค์กรสนับสนุนที่ช่วยเหลือและให้ความรู้กรณีสถานการณ์ covid-19 และสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

ขณะที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงถึงแผนการดำเนินการ ที่สมาชิกมีข้อเสนอแนะให้แจกแจงในรายละเอียดซึ่งทางกองทุนจะรับไปในการพิจารณา ส่วนประเด็นเรื่องของการพิจารณาผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสนั้นกองทุนได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว โดยในปีนี้กองทุนได้คะแนนจาก ป.ป.ช. 93.05 คะแนน ซึ่งเป็นความพยายามในการทำงานของทุกฝ่าย

ส่วนข้อเสนอในการทบทวนนิยามของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในมิติวัฒนธรรม ซึ่งพร้อมที่จะเดินหน้าและพัฒนาในยุทธศาสตร์เชิงรุกและจะรับไปดำเนินการ ในส่วนของสื่อด้านศาสนาคุณธรรมและจริยธรรม นายธนกร ระบุว่าปีนี้ได้มีการร่วมมือกับศูนย์คุณธรรมในการจัดทำโครงการสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมอวอร์ดที่ดำเนินการเป็นปีแรกและเป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับมีสื่อที่ผ่านการคัดเลือกหลายโครงการซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของกองทุนในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนกรณีของประเด็นข่าวปลอมนั้นมีหลายองค์ประกอบทั้งการ bully การใช้ hate speech ที่ผ่านมา
กองทุนก็ได้ร่วมมือในการทำโครงการรู้เท่าทันสื่อที่บิดเบือนโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับศาสนาความเชื่อในเด็กและเยาวชนซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมออนไลน์และมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน โดยย้ำว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของสังคม

นายธนกร ยังชี้แจงว่าหน่วยงานหรือสื่อที่ได้รับทุนทั้งหมดผลงานหรือสื่อที่ผลิตนั้นเป็นลิขสิทธิ์ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับกองทุน และผลงานหรือชิ้นงานที่มีการเผยแพร่นั้นบรรลุตามตัวชี้วัด
และยังสามารถไปขยายผลต่อยอดในแพลตฟอร์มอื่นและส่งผลกระทบต่อสังคม พร้อมยกตัวอย่างการ์ตูนแอนิเมชัน “บรูด้าน้อย” ทาง Netflix ก็ได้มาซื้อลิขสิทธิ์ซึ่งกองทุนก็จะมีการเดินหน้าในโครงการอื่นเพื่อต่อยอดหรือขยายผลซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube