Home
|
ทั่วไป

ศบค.ยัน24ก.ย.เริ่มฉีดวัคซีนเข็ม3

Featured Image
ศบค. เริ่มบูสเตอร์โดส เข็ม 3 ให้ประชาชน 24 ก.ย. นี้ หลังพบ เข็มแรกครอบคลุมเกิน 50 % แล้ว 8 จังหวัด

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานตัวเลขสถานการณ์ประจำวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 14,555 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 13,765 ราย ผู้ป่วยในเรือนจำ 790 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 1,448,792 ราย รักษาอยู่ 129,421 ราย รักษาในโรงพยาบาล 44,439 ราย และโรงพยาบาลสนาม 84,982 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,851 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 787 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 1,304,247 ราย หายเพิ่ม 13,691 ราย เสียชีวิตใหม่ 171 ราย รวมเสียชีวิต 15,124 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 13,756 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 9 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก/โรงงานและในชุมชน 1,156 ราย ค้นหาเชิงรุกในเรือนจำ 790 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 12,600 ราย

ด้านยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทยรวม 43,342,103 โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 28,436,015 ราย เพิ่มขึ้น 350,813 ราย เข็มที่สองจำนวน 14,285,995 ราย เพิ่มขึ้น 512,811 ราย และเข็มที่สามสะสมจำนวน 620,093 ราย เพิ่มขึ้น 965 ราย

โดยแพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากรเกิน 50% ในจังหวัดทั้งหมด 8 จังหวัด แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ,
ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ภูเก็ต และพังงา ด้านจังหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 70% ของในจังหวัด แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, ภูเก็ต, ระนอง และพังงา โดยนโยบาย ศบค. ในเดือน ต.ค. ทุกจังหวัดแผนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 50% รวมถึงหากฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ โรคเสี่ยง 608 ครอบคลุม 70% แล้ว ขอให้ฉีดต่อเนื่องให้มากที่สุด

ทั้งนี้ที่ประชุมพูดถึงเรื่องวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือ บูสเตอร์โดส ที่จะเริ่มฉีดในวันที่ 24 ก.ย. นี้ซึ่งเป็นวันมหิดล กระทรวงสาธารณสุขมีการอนุมัติให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็ม เข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. เป็นต้นไป ซึ่งประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มตั้งแต่เดือน มี.ค.- พ.ค. มีประมาณ 3 ล้านราย การรับการฉีดวัคซีนเข็มสามจะเป็นการทยอยฉีดซึ่งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีข้อความเพื่อให้เข้ารับเข็มสามส่วนผู้ที่รับวัคซีนครบในช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค. จำเป็นต้องรอก่อนเนื่องจากเป็นการทยอยฉีดในส่วนของจังหวัดภูเก็ตที่มีการฉีดวัคซีนสองเข็มเกิน 70% เข็มสามจังหวัดภูเก็ตได้ทำการศึกษาทดลอง ปรับการฉีดแอสตราเซเนกาเข็มสามเป็นการฉีดเข้าทางผิวหนังเทียบกับกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยการทดสอบภูมิหลังสองสัปดาห์พบว่าทั้งสองแบบไม่มีความแตกต่างกัน ทางภูเก็ตจึงเสนอให้ที่ประชุมสาธารณสุขรับรอง และมีข้อสรุปสามารถฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังได้ โดยจะเริ่มที่จังหวัดภูเก็ต โดยแอสตราเซเนกาฉีด 1 โดสได้ 5 คน โดยแบ่งฉีดเป็น 0.1 ML

 

ศบค. ยอมรับแจกATK วันแรกมีอุปสรรค เร่งปรับปรุง เพิ่มจุดรับบริการให้มากขึ้น ห่วงเทศกาลกินเจ ขอจัดงานตามมาตรการ สธ.

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยว่า กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำนอกจากการดูการติดเชื้อในพื้นที่และยอดผู้ติดเชื้อในประเทศจะมีการให้ความสำคัญกับยอดผู้ป่วยอาการหนักหรือปอดอักเสบ และผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งขณะนี้ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ โดยการตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR พบการติดเชื้อ 18-19% ด้านผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือ PUI พบติดเชื้อ 20% ขึ้นไปในพื้นที่กทม. บางช่วงพบถึง 30% ทางภาคใต้พบ 49% จึงต้องเน้นย้ำหากมีผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจต้องให้ตรวจโควิด 100% ส่วนการตรวจด้วย ATK เฉลี่ยภาพรวมพบ 20% โดยเมื่อวาน(16ก.ย.64) สปสช.ได้มีการคิกออฟแจก ATK ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยมีประชาชนบางส่วนรายงาน ว่า บางจุดรับไม่สะดวก ไกลที่พักอาศัย มีความแออัดเนื่องจากเป็นวันแรกของการแจก ทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอ และจะมีการกระจายจุดรับบริการให้มากขึ้น

โดยที่ประชุม ศปก.ศบค. มีความเป็นห่วงในช่วงเทศกาลกินเจที่จะเริ่มในวันที่ 4 ต.ค. นี้ หลายพื้นที่มีการจัดเทศกาลกินเจ โดย ศบค. เข้าใจแต่มีความเป็นห่วง จึงขอให้พื้นที่ที่จะจัดงานให้ฟังมาตรการกระทรวงสาธารณสุข และความร่วมมือประชาชนด้วย

โดยแพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวถึงความชัดเจนการเปิดประเทศในเดือน ต.ค.นี้ ว่า วานนี้ (16ก.ย.64) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กทม. มีการเสนอแผนนำร่องท่องเที่ยว กทม. เป็นการรับทราบและยังไม่ถือเป็นมติที่อนุมัติในเรื่อง กทม. แซนด์บ็อกซ์ 15 ต.ค. เพราะการเสนอแผนดังกล่าวต้องทำเป็นขั้นตอน โดยพื้นที่หารือร่วมกับในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องเสนอผ่านกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีการตรวจสอบมาตรการอย่างรอบคอบ รัดกุม เพราะ กทม. เป็นพื้นที่ใหญ่และมีความหลากหลายในพื้นที่ จึงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด เมื่อกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วจะต้องมีการหารือ ร่วมกับ ศปก.ศบค. ก่อน แล้วจึงนำเสนอให้อนุมัติโดย ศบค. ชุดใหญ่ เพราะการอนุมัติพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวจะต้องทำเป็นขั้นตอนและเป็นมาตรการเดียวกันในทุกพื้นที่

โดยหลักกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาความพร้อมของพื้นที่ มาตรการควบคุมโรคมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน หากเกิดมีการรายงานผู้ติดเชื้อ มีการรายงานเกิดคลัสเตอร์ พื้นที่มีมาตรการจะรับมืออย่างไร

ซึ่งเมื่อจะทำแซนด์บ็อกซ์ ที่ไหนก็ตามจะต้องมีการพิจารณาหารืออย่างรอบคอบ เมื่อมีการพูดถึงเปิดพื้นที่นำร่องกทม. ก็จะมีคำถามตามมาด้วยว่าการกักตัว 14 วัน จะยกเลิกหรือไม่ ซึ่งคำตอบจากมติ ศปก.ศบค. วันที่ 17 ก.ย. นี้ ยังคงมาตรการการกักตัว 14 วัน ใน AQ ตามมาตรการสาธารณสุข ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเริ่มมีการทบทวนการเปลี่ยนไปเป็นสถานที่พัก แบบที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำ SHA Plus เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่ทำงานใน AQ ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว คงต้องติดตามมติ ศบค. ชุดใหญ่ในเรื่องของกทม.แซนด์บ็อกซ์ และพื้นที่นำร่องจังหวัดอื่นๆ

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube