ดีอีเอส. เปิดร้องทุกข์คดีออนไลน์ 24 ช.ม.
กระทรวง ดีอีเอส. เปิดสายด่วน 1212 รับเรื่องร้องทุกข์คดีออนไลน์ 24 ช.ม. สั่งมือถือทุกค่าย Blacklist พวกต้มตุ๋น
วันนี้ (6 ต.ค. 64) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับพล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) และนายณภัทร ชุ่มจิตตรี (คิง ก่อนบ่าย) พร้อมด้วยน.ส.สายลม ชื่นดอนกลอย แม่เลี้ยงและผู้เสียหาย แถลงการณ์หารือแนวทางป้องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสืบสวนรวบรวมหลักฐาน และความเข้มข้นในการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพและผู้กระทำผิด ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางหลอกลวง ฉ้อโกง ซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในท่ามกลางความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหามิจฉาชีพทางออนไลน์ โดยกำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการตามกฎหมายสูงสุดหากพบหลักฐานกระทำความผิด ทั้งนี้ ยังมีการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้น ในการวางแนวทางการการป้องกัน ปราบปราม พร้อมยกระดับการบริการประชาชนผ่านสายด่วน 1212 เว็บไซต์ https://www.1212occ.com หรือ email: [email protected] ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ รวมทั้งการให้ความรู้กับประชาชนด้วย
พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) กล่าวว่า ล่าสุด บช.สอท. ได้ร่วมกับสำนักงาน กสทช. และค่ายมือถือ วางแนวทางจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน โดยการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง เว็บพนันออนไลน์ หรือลามกอนาจารทันที พร้อมเร่งตรวจสอบดูแลอย่างเคร่งครัด และให้ทุกค่ายเริ่มทำการ Backlist ผู้ส่งข้อความหลอกลวงจากผู้ส่งรายเดียวกัน
สำหรับข้อกำหนดลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายกรณีฉ้อโกงต่อประชาชน เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และหากการกระทำใดเข้าข่ายหลอกลวง ถือมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการก่อตั้ง บช.สอท.ขึ้นมา มีการดำเนินคดีประเภทหลอกลวงทางออนไลน์ไปแล้วกว่า 3,000 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news