Home
|
ทั่วไป

“นพ.ธีระวัฒน์” ชี้ โควิดทำให้ตาสว่าง

Featured Image
“นพ.ธีระวัฒน์” ชี้ โควิดทำให้ตาสว่าง ทุกประเทศนำสิ่งที่ดีที่สุด ถูกที่สุด เร็วที่สุด มาปรับแต่งเข้ากับบริบทและสถานการณ์ และหลีกเลี่ยงไม่ทำตามสิ่งที่คนอื่นและเราเองผิดพลาดและทำซ้ำอีก

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก เรื่องวิกฤติโควิด ทำให้ตาสว่าง ว่า พื้นฐานที่ดี การปรับตัวฉับไว การบริหาร เราตาสว่างหรือยัง จากการดูรอบตัวทุกประเทศนำสิ่งที่ดีที่สุด ถูกที่สุด เร็วที่สุด มาปรับแต่งเข้ากับบริบทและสถานการณ์ของประเทศไทย และหลีกเลี่ยงไม่ทำตามสิ่งที่คนอื่นและเราเองผิดพลาดและทำซ้ำอีก

ส่วน จีน เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ซีทีตรวจปอดบวมและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แยกโควิดจากเชื้ออื่น เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งตรวจพีซีอาร์ไม่ได้ในระยะแรก แต่มีเครื่องซีทีทุกโรงพยาบาล แต่แล้วในเวลาไม่นานตรวจพีซีอาร์ 100 ล้านคนในเวลาไม่ถึง 7 วัน โดยหมอจีนชอบเก็บงำข้อมูลในการรักษาจะไปตีพิมพ์ในวารสารตะวันตก ทางการสั่งให้เปิดเผยและรวบรวมจนกระทั่งได้กระบวนการวิธีการรักษาเผยแพร่เป็นภาษาจีนก่อนทั่วประเทศ และปรับปรุงฉบับที่หนึ่งถึงเจ็ดภายในไม่กี่เดือนและควบรวมการใช้สมุนไพรที่มีการใช้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว รายงานกระบวนการใช้สมุนไพรขณะปรากฏอยู่ในวารสารตะวันตกแล้ว

การฉีดวัคซีนเชื้อตายจนขณะนี้ มากกว่า 777 ล้านคน และยอมรับว่าครอบคลุมเชื้อวาเรียนท์ได้ไม่หมด พัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนได้ทุกชนิดรวม mRNA และแบบแอสตราฯ และแบบโปรตีนย่อย และอื่นๆ ใช้ควบรวมกับเชื้อตายและใช้เชื้อตายที่มีความปลอดภัยกว่าในเด็กตั้งแต่สามขวบเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน จากนั้นตามด้วย เทคโนโลยีอื่น และ 1,400 ล้านคน จะได้วัคซีนครบในสิ้นปี 2564 รวมกับยารักษานานาชนิด

จีนมีความเข้าใจในการระบาดของโรค ถ้าคุมไม่ได้ในฉับไวจะนำไปสู่ไวรัสที่ ร้ายกาจมากขึ้น และเป็นที่มาของการต้องคัดกรองแยกตัวรักษาทันที และวัคซีน ควบวินัย ซึ่งต้องทำทุกอย่างพร้อมกันและเป็นที่ยอมรับ ดังเช่นรายงานจากคณะผู้วิจัยตะวันตกเองในวารสารเนเจอร์ ปลายเดือนกรกฎาคม 2564 และ nature review genetics การที่มีไวรัสกลายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นอัลฟา เบตา เดลตาในพื้นที่ จะเป็นเสมือนแหล่งโรงงานเพื่อให้มีการผ่าเหล่าต่อ แม้ว่าในพื้นที่นั้นจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ไวรัสต้องการรักษาสถานะความฟิต (viral fitness) เพื่อจะได้แพร่กระจายต่อ และในการนี้ต้องมีการดื้อต่อภูมิคุ้มกันเดิมที่มนุษย์มีอยู่

ขณะ อินเดีย เช่น ควบคุมการตายอย่างมโหฬารภายในสองเดือน ใช้ยาฆ่าพยาธิตั้งแต่นาทีแรกที่ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ประกาศใช้ทั่วประเทศ มีการพัฒนาปรับปรุงยาที่มีอยู่แล้วและพบมีสรรพคุณต้านการอักเสบและต้านไวรัส เช่นการใช้ 2 deoxy glucose ที่ใช้ในโรคมะเร็ง มีความปลอดภัยและประกาศใช้ทั่วประเทศ

ประเทศที่มีรายได้ไม่มากอย่างกรีซ คิวบา และอื่นๆ ใช้กรอบกระบวนความคิดไม่รอทำตามตะวันตกทุก อย่างฝ่าฟันอุปสรรค ในทรัพยากรจำกัด แต่ไทยเรามีสมุนไพรที่ดี เราดึงการฉีดเข้าชั้นผิวหนังที่มีความปลอดภัยกว่ามาใช้ได้ ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยทำให้ 10 ล้านโดส จะกลายเป็น 50–100 ล้านโดสได้ทันทีแล้วแต่ชนิดของวัคซีน

ทำไม การฉีดชั้นผิวหนังใช้ปริมาณวัคซีน น้อยได้ผลเท่ากัน ปลอดภัยกว่า เนื่องจากการกระตุ้นจากชั้นผิวหนังใช้กลไกต่างจากชั้นกล้ามเนื้อ มีเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันหลากหลาย ทำให้ประหยัดกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า เด็กตั้งแต่ 3 ขวบ ใช้เชื้อตายปลอดภัยกว่า และต่อด้วยยี่ห้ออื่น เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ชั้นผิวหนัง เพื่อเลี่ยงหัวใจอักเสบ การฉีดกระตุ้นมีความจำเป็น รายงานจากประเทศอิสราเอลที่มีการฉีดทั้งประเทศด้วยไฟเซอร์ พบว่า
1.เริ่มตั้งแต่สี่เดือนโดยเฉพาะตั้งแต่ห้าเดือนหลังฉีดเข็มที่สองมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

2.จึงได้เริ่มมีการฉีดเข็มสามในคนที่ได้วัคซีนครบแล้วอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินห้าเดือน และประเมินการติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงตั้งแต่ 12 วันหลังได้เข็มที่สาม

3.กลุ่มที่ไม่ได้เข็มสามมีการติดเชื้อ 4,439 ราย เทียบกับที่ได้รับเข็มสาม 932 ราย

4.กลุ่มที่ไม่ได้เข็มสามมีอาการป่วยรุนแรง 294 ราย เทียบกับที่ได้รับเข็มสาม 29 ราย

5.ประเทศอิสราเอลกำลังเริ่มเข็มสามใน ประชาชนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนเกินห้าเดือนแล้ว

และในเมื่อต้องมีการกระตุ้นแล้วกระตุ้นเล่า จนกว่าที่เราจะมีวัคซีนยอดขุนพลที่ครอบคลุมสายเพี้ยน โดยใช้โปรตีนย่อย protein subunit เช่น ใบยา เป็น trimeric multimeric และที่จีนและสหรัฐฯใช้เป็นทางออกด้วย โดยควรมีความปลอดภัยสูง ไม่ต้องฉีดบ่อย ใช้ตัวกระตุ้นภูมิที่ควบคู่กับวัคซีนที่เหมาะสม และใช้การฉีดชั้นผิวหนังด้วย

จากวิกฤติของโควิดน่าจะทำให้เราตาสว่างขึ้นในการดูรอบด้าน ใช้บทเรียนในทางดีและทางที่ไม่สำเร็จจากประเทศต่างๆทั่วโลกนำมาปรับปรุง ดัดแปลงเข้ากับสถานการณ์ฉุกเฉินและบริบทของประเทศไทย ตามทรัพยากรและงบประมาณที่จำกัดมากกว่า จะดีหรือไม่?

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube