“สุรเชษฐ์” นำคณะทำงาน ก้าวไกล เดินทางรับฟังข้อมูล ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากฐานข้อมูลดาวเทียม
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยนายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตสะพานสูงและแขวงประเวศ กทม., นายนิธิกร บุญยกุลเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางบอน และทีมงานพรรคก้าวไกล เดินทางไปรับฟังข้อมูลและการประเมินสถานการณ์จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำล่าสุดและศึกษารูปแบบการนำเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์มาปรับใช้ในองค์กร
โดยนายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์น้ำจาก GISTDA เผยว่า ปัจจุบันยังมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ 494,174 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์, ฉะเชิงเทรา, ชัยนาท, นครนายก, นครปฐม, นครสวรรค์, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, อ่างทอง และอุทัยธานี ส่วนภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วมนับตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมรวมกันทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ มีพื้นที่นาข้าวของประชาชนรับผลกระทบมากถึง 3.5 ล้านไร่ โดยมี 43 จังหวัดได้รับผลกระทบ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะนำไปสู่การวางแผนรับมือน้ำท่วมในช่วงสุดท้ายก่อนฝนจะทิ้งช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว และสามารถจะสามารถนำไปวางแผนการเยียวยาผลกระทบต่อไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ซึ่งในช่วงแลกเปลี่ยนความเห็น นายสุรเชษฐ์ ระบุว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่องค์กรเผยแพร่ข้อมูลที่รวบรวมไว้เป็น Open data ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อได้อย่างเสรี ซึ่งตรงตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลสนับสนุนมาโดยตลอด รวมถึงยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการนำข้อมูลมาแสดงในระบบได้ พร้อมเสนอแนะให้องค์กรประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประโยชน์ในการนำข้อมูลจากดาวเทียมที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้ประชาชนรับรู้ถึงความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ด้านนายนิธิกร ระบุว่า เบื้องต้นทำให้รู้ว่า GISTDA มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมหลากหลายดวง เช่น THEOS (ไทยโชต) ดาวเทียมของไทย, sentinel-1, lansat หรือข้อมูลพื้นที่เกษตร โดยได้เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ shapefile, excel, kml ซึ่งแสดงพื้นที่วิเคราะห์น้ำท่วม ให้ดาวน์โหลดได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ ทำให้ผู้ที่สนใจในการแก้ปัญหาหรือการวางแผนต่างๆสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ และในเร็วๆ นี้ จะมีดาวเทียมอีกดวงของไทย “THEOS-2” ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชั่นภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม อีกทั้งจะมีการสร้างดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมหลัก 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก 1 ดวง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคตอย่างมาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news