ศบค.ฉีดวัคซีนครบ100ล้านโดสแล้ว-พบโอไมครอนเพิ่มขึ้น
ศบค.ประกาศข่าวดีฉีดวัคซีนครบ100 ล้านโดสแล้ว ขณะพบเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้น จากคลัสเตอร์ กลับจากเมกกะ
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้เราฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส ซึ่งเข็มที่1 ครอบคลุมประชากร 70.21% เข็มที่สองครอบคลุมประชากร 61.63% เข็มที่สาม ครอบคลุมประชากรเกือบ 7% ซึ่งขณะนี้มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศโดยเฉพาะเชื้อโอไมครอน มีรายงานเพิ่มเติมในวันนี้ มีคลัสเตอร์จาก สสจ.นนทบุรี ซึ่งคลัสเตอร์นี้มีความเชื่อมโยงกับหลายจังหวัด คือ ปทุมธานี, อยุธยา, โคราช รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ที่ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในประเทศตะวันออกกลางจำนวน 33 รายและกลับมาประเทศไทย 15 ธ.ค. เข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อตรวจ RT-PCR ซึ่งตรวจเมื่อมาถึงประเทศไทยพบติดเชื้อ 14 ราย ถอดรหัสพันธุกรรมเป็นโอไมครอน 6 ราย และเดลต้า 8 ราย ซึ่งได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ตรวจเพิ่มเติมอีก 2 ราย ในวันที่ 19 ธ.ค.และวันที่ 20 ธ.ค.พบเชื้อเพิ่ม 2 ราย โดยคลัสเตอร์นี้มี 18 ราย ซึ่งรอผลการตรวจสายพันธุ์อีก 4 ราย ด้านคู่สามีภรรยาที่มาจากประเทศไนจีเรียเข้ามาประเทศไทยวันที่ 26 พ.ย.ซึ่งเป็นวันก่อนประกาศมาตรการที่มีการประกาศ 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงจากทวีปแอฟริกา ซึ่งสามีภรรยานี้ได้เข้าสู่ระบบ Sandbox ซึ่งสามีชาวโคลัมเบียมีอาการตรวจ RT-PCR วันที่ 7 ธ.ค.ตรวจพบเชื้อ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยในวันที่ 10 ธ.ค. ภรรยาเข้าตรวจและพบเชื้อ โดยวันเดียวกันสามีพบเชื้อโอไมครอนและในวันที่12 ธ.ค.ภรรยาพบเชื้อโอไมครอนเช่นกัน โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 ราย ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบขณะนี้กำลังกักตัวสังเกตอาการ พบผู้สัมผัสเสียงต่ำอีก 83 รายติดตามอาการครบ 14 วันไม่พบผู้ที่มีอาการป่วย ซึ่งถือได้ว่าภรรยาที่เป็นคนไทยถือเป็นรายแรกที่ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย
ด้านคลัสเตอร์นราธิวาส 3 ราย ที่ผลการตรวจเป็นบวก โดย 3 รายนี้เป็นรายที่กลับจากทำกิจกรรมทางศาสนาทางประเทศแถบตะวันออกกลางเข้าประเทศมาทางสนามบินภูเก็ตและเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวระบบ Sand box ซึ่งมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 3 รายและผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 126 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการกักตัวสังเกตอาการ ซึ่งพบโอไมครอน 1 ราย อีก 2 รายเป็นสายพันธุ์เดลต้าส่วนรายละเอียดการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทยที่มีการรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการชี้แจงถึงสายพันธุ์เฝ้าระวังในประเทศไทยขณะนี้มากที่สุดคือสายพันธุ์เดลต้า 68.67% ซึ่งถือว่ามากที่สุดแต่ว่าลดลงจากครั้งก่อนที่มีการรายงานก่อนหน้านี้, สายพันธุ์อัลฟา 29.79%, สายพันธุ์เบต้า 1.41% และโอไมครอน 0.13%
โดยสถานการณ์โอมิครอนในประเทศไทยในขณะนี้ยังเป็นสถานการณ์คล้ายกับสถานการณ์โลก คือ คนติดเชื้อโอมิครอนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่มีสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งทุกรายที่ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยก็ยังถูกโยงกับการเดินทางที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งใน 1 ส่วน4 ของคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นเชื้อโอไมครอนไม่ได้เป็นคนเฉพาะที่มาจากประเทศแถบแอฟริกาเท่านั้น แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นการยกระดับการจัดการมาตรการของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยจะต้องมีการปรับอย่างแน่นอน ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาจากทางศบค.ชุดเล็กและนำเสนอให้ ผอ.ศบค.เพื่อพิจารณา ด้วยการปรับระบบของการเข้าประเทศแบบ Test and Go ไปเป็นระบบที่มีการตรวจ RT-PCR หรือมีการกักตัวในระยะเวลาที่มาถึงเมืองไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นเท่าไหร่นั้นจะต้องรอติดตามมาตรการต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews