Home
|
ทั่วไป

“หมอยง” เน้นย้ำความสำคัญของวัคซีนป้องกันโควิด-19

Featured Image
“หมอยง” เน้นย้ำความสำคัญของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชื่อหากประเทศไทยมุ่งเน้นลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ให้เหลือน้อยที่สุด ก็จะเป็นที่ยอมรับได้

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง โควิด-19 ความรุนแรงของโรค โดยดูค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วย (ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต 30 มกราคม พ.ศ. 2565) ว่า โรคโควิด 19 ในปีแรกที่มีการระบาดเริ่มจากประเทศจีน อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3 ราย ในผู้ป่วยร้อยราย และต่อมาเมื่อเกิดการระบาดในยุโรป อัตราการเสียชีวิตก็ไม่ได้น้อยกว่านี้ และก็เช่นเดียวกันการเสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะแรก ก็มีอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง

 

ในระยะแรกยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ลดอัตราการเสียชีวิต ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลง หลังจากมีวัคซีนที่ใช้ ถึงกระนั้นก็ตามในทางตะวันตกก็ยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และมีอัตราสูงกว่าประเทศไทยเป็นเท่าตัว

 

สำหรับประเทศไทย ในปีแรกการดูแลค่อนข้างดีมาก มีผู้เสียชีวิตในอัตราที่ต่ำ และเริ่มมาสูงขึ้นตั้งแต่มีการระบาดของสายพันธุ์แอลฟา และสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ค่าอัตราเฉลี่ยการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ หนึ่งในร้อยราย ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัย แต่ก็ยังน้อยกว่าประเทศทางตะวันตก และสหรัฐอเมริกามาก

 

เมื่อมีการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่รายงาน มีอัตราที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตก ยุโรป และอเมริกา ทำให้อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกโดยมีค่าเฉลี่ยใน 7 วันที่ผ่านมานี้ ประมาณ 2.6 รายในผู้ป่วย 1,000 ราย เมื่อเปรียบเทียบของประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2.3 รายในผู้ป่วย 1,000 ราย (ดังแสดงในรูป) โดยมากจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน

 

ในภาพรวมจึงเห็นว่าความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าความรุนแรงของโรคจะลดลงอีก หลังจากที่มีการติดเชื้อจำนวนมากแล้ว และเกิดภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ ร่วมกับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน และการปรับตัวของไวรัส ที่จะทำให้ความรุนแรงน้อยลงอีก

 

ในที่สุด เมื่อประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน หรือ มีการติดเชื้อ สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทางตะวันตกเอง ขณะนี้ จึงเน้นการให้วัคซีนเข็มกระตุ้น ในกลุ่มเสี่ยง ที่มีโรคประจำตัว อายุมากกว่า 60 ปี ปี สตรีตั้งครรภ์ เพราะเป็นกลุ่มที่จะทำให้ มีความรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทำให้ในปีนี้วัคซีนที่ผลิตมา จะมีความต้องการน้อยลงอย่างมาก และจะมีปริมาณวัคซีนเหลือเฟือ เกินความต้องการ

 

กลยุทธ์สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้ถ้าพิจารณาความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในกลุ่มที่ป่วยแล้วมีโอกาสที่จะเข้าโรงพยาบาล นอน ICU ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มเปราะบาง ที่มีโรคประจำตัว อายุมาก หรือกลุ่มเสี่ยงที่เราเรียกว่า 608 การให้วัคซีนเข็มกระตุ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นไปหากลุ่มประชากรดังกล่าว ให้ได้มากที่สุด ความคุ้มค่าของวัคซีนที่ใช้ จึงจะมีค่าสูงสุด ปีที่แล้วเราใช้จ่ายกับค่าวัคซีนไปหลายหมื่นล้านบาท

 

ในขณะนี้ ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าในบุคคลที่แข็งแรงดี ถึงแม้จะติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค ก็ไม่ได้มาก และจะเกิดภูมิต้านทานเกิดขึ้น แม้กระทั่งในอังกฤษ เดนมาร์ก ก็พร้อมที่จะเปิดประเทศเต็มตัวแล้ว ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ถ้าต่อไป เรามุ่งเน้นลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ให้เหลือน้อยที่สุด เช่นหนึ่งในพัน หรือน้อยกว่า ก็น่าจะยอมรับได้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสใช้ชีวิตในวัยเด็ก และได้ไปโรงเรียน การศึกษาเราถดถอยมามากพอแล้ว และเศรษฐกิจสังคมจะได้ดีขึ้นด้วย

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube