เด็กป่วยโควิดเข้าระบบHIอาการไม่รุนแรง
สถาบันสุขภาพเด็กฯ เผย เด็กป่วยโควิด-19 รักษาระบบ HI ต้องคัดกรอง รับเด็กอาการน้อย ไม่รุนแรง
วันนี้ (21 ก.พ. 65) นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวถึงประเด็นศูนย์การทำ Home isolation สำหรับเด็กป่วยโควิด-19 และการบริหารจัดการเตียงสำหรับเด็ก ป่วยโควิด-19 ระบุว่า สถานการณ์เด็กติดเชื้อโควิด-19 ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบมีเด็กติดเชื้อโควิด-19 ในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 150 ราย จากเดิม 200 กว่าราย ในเดือน ม.ค.
ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งประเทศมีเด็กติดเชื้ออยู่ที่ 15-17 %ของการติดเชื้อในผู้ใหญ่ โดยแนวโน้มการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ที่ร้อยละ 17 จากเดิม 13-15 %ของสายพันธุ์เดลต้า โดยมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ
1. เด็ก 5-11 ปี เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีน
2. เริ่มมีการเปิดเรียนรูปแบบออนไซต์
โดยจากตัวเลขเด็กติดเชื้อ พบมีอาการรุนแรงไม่ถึง 3% ไม่มีอาการ 50% และมีอาการน้อย หรือผู้ป่วยสีเขียว 30% ซึ่งแม้จะมีการติดเชื้อโอไมครอนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ความรุนแรงยังน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า นพ.อดิศัย กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้ว อาการของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้อยู่ที่ประมาณ 5 วัน แต่จะต้องสังเกตุอาการถึง 10 วัน และติดตามอาการต่อถึง 14 วัน โดยขณะนี้การรักษาในเด็กเหมือนการรักษาในผู้ใหญ่ หากเด็กทานยาเม็ดไม่ได้ จะมียาน้ำสำหรับเด็ก โดยให้ยาตามน้ำหนักตัว
ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการติดเชื้อโอไมครอนในเด็กเหมือนกับการเป็นไข้หวัด สำหรับเด็กที่ได้รับการดูแลในรูปแบบ Home Isolation (HI) จะต้องผ่านการคัดกรอง โดยต้องมีไข้ไม่สูง ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง เด็กไม่ซึม ทานอาหารได้ มีพ่อแม่ดูแล และมีห้องแยกป้องกันการกระจายของเชื้อ สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ขอให้เดินทางเข้ามาให้แพทย์ทำการคัดกรองด้วยตนเอง ผ่านโรงพยาบาลใกล้เคียงที่สะดวก
สำหรับระบบ HI จะมีทีมพยาบาลติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยจะส่งเครื่องมือวัดไข้ ยา ถุงขยะติดเชื้อ อาหาร รวมทั้งของเล่นให้เด็กด้วย และในบางรายจะให้พ่อแม่ส่งวิดีโอมาเพื่อติดตามอาการ รวมทั้งยังมีระบบไลน์ OA ที่ติดต่อหรือโทรได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม สำหรับช่วงอายุของเด็กที่ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่ประมาณ 4 % อายุน้อยกว่า 2 ปี และกลุ่มที่มีอาการรุนแรง 3 % จะมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ สมอง มะเร็ง หรือกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง
สำหรับภาพรวมการสำรวจเตียง 20 กว่าแห่งทั่วกทม. ในเครือข่ายสำนักการแพทย์กทม. พบว่า มีประมาณ 500 กว่าเตียงและมีการครองเตียงแล้วกว่าร้อยละ 80 โดยเตียงเด็กจะไม่เหมือนเตียงผู้ใหญ่ เราจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือ อายุน้อยกว่า 20-30 วัน หรือกลุ่ม New Born
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่อายุมากกว่า 12 ปี
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่อายุ 1-5 ปี สำหรับการดูแลบุตรหลานเบื้องต้น ระหว่างที่รอการประสานงานเข้าสู่ระบบ หากไข้ไม่สูงให้เช็ดตัว ทานยาลดไข้ สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาขึ้นไปภายใน 24 ชม. ซึม ไม่ทานอาหาร หายใจเร็ว ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน
ปัจจุบันสถาบันสุขภาพเด็กฯ ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดเด็กในการดูแล 76 ราย ซึ่งเกินจำนวนเตียงที่มี 70 ราย แต่กำลังจะเพิ่มเป็น 80 เตียง โดยมีผู้ปกครองมารักษาด้วย เนื่องจากเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว เด็กเล็กส่วนใหญ่ติดจากผู้ปกครอง ทางสถาบันสุขภาพเด็กฯ จึงได้ดูแลผู้ปกครองร่วมกับเด็กเล็กด้วย และมีผู้ปกครองที่เข้ารับการรักษาอยู่ 20 ราย และจะประสานไปยังรพ.ราชวิถี ให้มาช่วยดูแลแต่จะไม่แยกแม่กับลูกออกจากกัน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเนื่องจากกินยาง่าย และยอมรับการรักษาง่ายขึ้น ซึ่งในขณะนี้เตียงเต็มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เตียงของเด็กทารกแรกเกิดยังว่าง นอกจากนี้ยังมีระบบ Community Isolation (CI) ของเด็กที่เกียกกาย จะรักษาเฉพาะเด็กอายุ 5-11 ปี มีเตียงรองรับ 52 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 12 เตียง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews