นายก ฯ กำชับทุกส่วนราชการประสานความร่วมมือเป็นเครือข่าย เร่งบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ปีงบประมาณ 2564 รวม 101,691 ได้ขอยุติ 95,024 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.44 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6,667 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 6.56
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังกำชับให้ส่วนราชการ ประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างส่วนราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ในระนี้ รัฐบาลกำลังเร่งมาตรการอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้แบบปกติใหม่ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าต่อไป ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกทั้งราคาน้ำมันแพงและสงครามรัสเซีย-ยูเครน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 5 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์ได้รับข้อคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่
- กระทรวงการคลัง 8,017 เรื่อง
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4,901 เรื่อง
- กระทรวงสาธารณสุข 4,812 เรื่อง
- กระทรวงแรงงาน 4,655 เรื่อง
- กระทรวงคมนาคม 1,258 เรื่อง
ส่วนวิสาหกิจ
- ธนาคารออมสิน 566 เรื่อง
ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร 7,301 เรื่อง
- จังหวัดนนทบุรี 1,403 เรื่อง
- จังหวัดสมุทรปราการ 1,216 เรื่อง
- จังหวัดปทุมธานี 1,044 เรื่อง
- จังหวัดชลบุรี 939 เรื่อง
สำหรับประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1) การรักษาพยาบาลเช่นมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 การจัดสรรวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ให้กับประชาชน และการจัดสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้ออย่างพอเพียง
2) การเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐบาล เช่น หลักเกณฑ์ คุณสมบัติและการลงทะเบียนและวิธีการจ่ายเงินในโครงการช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐและการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
3) ค่าของชีพ เช่น หลักเกณฑ์การรับเงินเยียวยา “โครงการเราชนะ”และ “ม.33 เรารักกัน”
4) เรื่องเสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น ปัญหามลพิษทางเสียงจากสถาบันบันเทิง สถานประกอบการ วัยรุ่นมั่วสุมดื่มสุรา รวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน
5) โทรศัพท์ เช่น การปรับปรุงระบบการให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19
6) ไฟฟ้า เช่น การแก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง
7) การเมือง เช่น การชุมนุมทางการเมือง การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ
8) น้ำประปา เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลแล้วไม่มีคุณภาพ
9) บ่อนการพนัน
10) ถนน เช่น การก่อสร้างถนนและปรับปรุงถนนลูกรังเป็นทางลาดยาง เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรียังเน้นให้ทุกส่วนราชการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ ต้องเผยแพร่ให้รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องให้มีทีมตรวจสอบข่าวและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อลดการเผยแพร่ข่าวปลอมและป้องกันการสร้างความสับสนแก่สาธารณชนด้วย”
นอกจากนั้นนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้เปิดเผยภาพรวมการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด – 19 แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน “เจอ แจก จบ” ในโรงพยาบาล 14 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 4 – 8 มีนาคม 2565 รักษาผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครไปแล้วเกือบ 8 พันคน
โดยผู้ติดเชื้อมีความสนใจและให้ความร่วมมือในการเข้ารับบริการเป็นอย่างดี เป็นไปตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยโควิด – 19 และการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรียังขอให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกลุ่ม 10 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด เช่น กรุงเทพ ฯ ชลบุรี นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ เป็นต้น เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมทั้งการฉีดเข็มที่สามและเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความรุนแรงของโควิด-19
โฆษกรัฐบาลยังกล่าวด้วยว่า การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด – 19 แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน “เจอ แจก จบ” เป็นทางเลือกในการรับบริการ นอกเหนือจากการดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) รวมทั้งให้โรงพยาบาลใน 14 จังหวัดรอบ กทม. เพิ่มกำลังการบริการในคลินิกโรคทางเดินหายใจแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ด้วย เพื่อช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด – 19 กลุ่มสีเขียวในพื้นที่ กทม. ที่ยังตกค้าง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews