อธิบดีกรมอนามัย ชี้ BA.2 รุนแรงน้อยกว่าแต่แพร่ไวกว่าเดลต้า คาด หลังสงกรานต์ติดเชื้อต่อวัน 50,000 – 100,000
วันนี้ (12 เม.ย. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นางชะไมพร โชติมาโนช ผอ.สำนักการขนส่งผู้โดยสารกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมแถลงข่าวในประเด็น เทศกาลสงกรานต์ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์ / มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของการให้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อการเดินทางกลับบ้านปลอดภัย / และ การควบคุม กำกับ และเตรียมการรองรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับสถานประกอบการสถานที่เสี่ยงชุมชนและประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จากความกังวลเรื่องสายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น โดยปกติแล้วเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์เป็นปกติของไวรัสเพื่อการอยู่รอด แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวังเช่น เดลต้าหรือไอไมครอน ซึ่งจากข้อมูลนั้น สายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรงมากที่สุด ในขณะที่สายพันธุ์ BA.2 รุนแรงน้อยที่สุด ในเรื่องของการเร็วในการแพร่กระจาย สายพันธุ์ BA.2 แพร่ไวกว่าสายพันธุ์ BA.1 และสายพันธุ์เดลต้า อีกทั้งสายพันธุ์ BA.2 ยังหลีกเลี่ยงภูมิได้ดีที่สุดอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ BA.2 ยังสามารถตรวจพบได้ด้วย ATK อยู่
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนตามเกณฑ์โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นเพื่อลดความรุนแรงของการป่วยและการเสียชีวิต หากสวมหน้ากาก 2 ชั้น ชั้นนอกควรเป็นหน้ากากผ้าและชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ขอให้ใช้หน้ากากที่มีคุณภาพและสวมให้ถูกต้อง ส่วนมาตรการสิ่งแวดล้อมยังคงเน้นมาตรการเดิม เช่นเดียวกับการทำความสะอาดและการระบายอากาศ
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ จากสถิติปี 2563 ที่มีการใช้มาตรการที่เข้มงวด งดเดินทาง งดการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลงอย่างได้ผล ส่วนสถิติในปี 2564 มีการผ่อนปรนมาตรการให้เดินทางได้ อนุญาตให้มีการรวมกลุ่ม มีการเริ่มฉีดวัคซีนบ้างแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น และในปี 2565 นี้ มีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้น ถึงแม้ประชาชนส่วนมากจะฉีดวัคซีนแล้วแต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์
คาดว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึง 50,000 – 100,000 รายต่อวันหลังเทศกาลสงกรานต์ ขอความร่วมมือทุกฝ่ายคงมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความสูญเสีย
ด้านผู้อำนวยการสำนักการขนส่งผู้โดยสารกรมการขนส่งทางบก ได้กล่าวถึงมาตรการในสถานีขนส่งผู้โดยสารว่า ได้จัดให้มีสถานที่นั่งรอโดยเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม มีการจัดคิวในการซื้อตั๋ว เว้นระยะห่างในการขึ้นรถโดยสาร มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานีขนส่ง ในอาคารผู้โดยสารมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเป็นระยะ ก่อนขึ้นรถโดยสารจะตรวจวัดอุณหภูมิอีกครั้ง
ถ้าเกินอุณหภูมิที่กำหนดจะไม่ให้ขึ้นรถโดยสาร กำชับให้ทำความสะอาดพื้นผิวในรถด้วยแอลกอฮอล์ จัดให้มีการระบายอากาศในรถโดยเฉพาะรถตู้ให้จอดระบายอากาศทุก 2 ชม. และทำความสะอาดก่อนและหลังให้บริการ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการบริการอาหารหรือรับประทานอาหารบนรอ สนับสนุนให้ซื้อตั๋วในรูปแบบออนไลน์ ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ประกอบการฉีดวัคซีนให้พนักงานครบตามเกณฑ์และตรวจ ATK เป็นระยะ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews