Home
|
ทั่วไป

สธ.แจงไทม์ไลน์ผู้ป่วยคลัสเตอร์มหาสารคาม

Featured Image
สธ.แจงไทม์ไลน์ ผู้ป่วยคลัสเตอร์ ที่ จ.มหาสารคาม พบเดินทางมา กทม. ช่วงก่อนปีใหม่ – ขอ ปชช. งดสังสรรค์ เข้มป้องกันโรคหลังคลายมาตรการ

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร อย่างต่อเนื่อง

โดยภาพรวมของการระบาดระลอกใหม่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดี สำหรับกรณีการพบผู้ป่วยระลอกใหม่ คลัสเตอร์ของ จ.มหาสารคาม นั้น พบว่าไทม์ไลน์ ของผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชาย อายุ 46 ปี ได้เดินทางมาที่ กทม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 64 ก่อนจะเดินทางกลับด้วยรถยนต์ส่วนตัวเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 64

ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว กทม. ถือเป็นพื้นที่สีแดง ในช่วงวันที่ 4 – 9 พักอยู่ที่บ้าน ไปซื้อของบ้างแต่สวมใส่หน้ากาก เริ่มมีไข้ วันที่ 10 ม.ค. วันที่ 18 ม.ค. เริ่มปวดเมื่อยตามตัว วันที่ 23 ม.ค. 64 ไปพบแพทย์ ก่อนจะตรวจพบเชื้อในวันที่ 27 ม.ค. 64

โดยพบว่าช่วงเวลาก่อนที่จะตรวจเจอเชื้อ ชายรายนี้ได้ไปกินเลี้ยงสังสรรค์ในหลายพื้นที่ ซึ่งกรณีนี้พบว่ามีผู้สัมผัส 110 ราย จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 32 ราย และ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 78 ราย จำนวนนี้ มีผู้ติดเชื้อโควิด 5 ราย 1 รายคือคนในครอบครัว(ภรรยาผู้ป่วย) อีก 4 ราย คือผู้ที่ร่วมกินเลี้ยงสังสรรค์โต๊ะแชร์ ทั้งหมด เข้ารับการรักษาที่รพ.แล้ว

นอกจากนี้ นพ.เฉวตสรร ยังได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรค หลังมีการผ่อนคลายมาตรการในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องของการรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกันและกินเลี้ยงสังสรรค์

 

กทม.เพิ่มขั้นตอนตรวจสอบก่อนเผยแพร่ Timeline เน้นความถูกต้องรวดเร็ว

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ชี้แจงขั้นตอนการจัดทำไทม์ไลน์ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจะใช้ข้อมูลจากสถานพยาบาล ประกอบจากการสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อและจากข้อมูลการสอบสวนโรค แล้วจัดทำเป็นชุดข้อมูล เพื่อเสนอคณะทำงานพิจารณา แล้วจึงจัดทำเป็นไทม์ไลน์ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดทำไทม์ไลน์ จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และป้องกันตนเองได้ทันเวลา ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มคนที่มีกิจกรรมบางอย่างร่วมกันที่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

เช่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างระหว่างกัน หรือสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงทำให้ต้องจัดทีมผู้สอบถามข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและอาจไม่มีความชำนาญในพื้นที่ จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของการรายงานสถานที่ ดังเช่นกรณีการระบุไทม์ไลน์ถึงร้านไอศกรีม iberry ผิดสาขา โดยจากข้อมูลที่ผู้ป่วยทั้ง 2 รายแจ้งว่าไปร้านโรงสีโภชนา เขตสาทร รายงานเป็นร้านโรงสีโภชนา แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ในครั้งที่ 1 และร้านโรงสีโภชนา เขตปทุมวัน ในครั้งที่ 2

ทั้งนี้ กทม. ขอรับข้อแนะนำเพื่อทบทวน กระบวนการจัดทำไทม์ไลน์ โดยจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและสถานที่จากผู้ป่วยและพื้นที่ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.และสอบถามกลับไปยังผู้ป่วยอีกครั้งก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนในครั้งต่อไป

ทั้งนี้ กทม. ได้ชี้แจงกับสถานการณ์ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันโรคที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งทางร้านอาหารได้ปิดทำความสะอาดและดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่แนะนำเรียบร้อยแล้วและยังมีการตรวจหาเชื้อผู้ทำงานภายในร้านอาหารและหากพบผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง จะนำเข้าสู่การกักตัว เพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน พร้อมเข้าไปตรวจสอบร้านอาหารโรงสีโภชนาทุกสาขา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube