Home
|
ทั่วไป

สธ.แจงยิบวัคซีนโควิด-19หลังฝ่ายค้านอภิปราย

Featured Image
สธ.แจง ยิบ รายละเอียดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หลังฝ่ายค้านอภิปราย พร้อมขอตรวจสอบข้อมูลรอบด้าน หวั่นสร้างความเข้าใจผิด

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พร้อมคณะทำงานกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าว หลังภายหลัง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นการจัดซื้อวัคซีน โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ ระบุว่า ประเทศไทย เตรียมวัคซีน ให้ครอบคลุม และได้สั่งจองไว้ถึง 63 ล้านโดส ที่จะฉีดให้ครบทั่วประเทศภายในปีนี้

ด้าน นายแพทย์นคร นำเอกสารซึ่งเป็นจดหมายจากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ประเมินความสามารถการผลิตวัคซีน และเลือกไทย เป็นหนึ่งใน 60 บริษัททั่วโลก ร่วมผลิต พร้อมยืนยัน ว่า วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา มีความเท่าเทียม กับวัคซีนยี่ห้ออื่น และยืนยันได้ว่า ประเทศไทย มีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลกเพราะไทยจะได้รับการถ่ายทอดศักยภาพการผลิตวัคซีนระดับโลก มาไว้ในประเทศ  และเราไม่จำเป็นต้องมีวัคซีน จากหลายบริษัท แต่ขอให้มีมากพอกับจำนวนคนในประเทศ

ส่วนจะอยู่กับรัฐหรือเอกชนนั้น ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคืออยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่าย โดยระบุว่า การจองซื้อวัคซีนทุกเจ้า ไม่ว่าจะเป็น COVAX Facility หรือ แอสตร้าเซนเนก้า จะต้องมีการจ่ายเงินไปบางส่วนเป็นค่าจอง แต่ ของแอสตร้าเซนเนก้า เงินที่จ่ายเป็นค่าจองไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของราคาวัคซีน ส่วน COVAX Facility เงินที่จ่ายไป ถ้าดูในรายละเอียดจะทราบ ว่า เงินที่จ่ายไปเป็นค่าบริหารจัดการ ไม่ใช่ค่าวัคซีน และค่าวัคซีน จะถูกกำหนดก็ต่อเมื่อ รู้ว่าเป็นวัคซีนจากบริษัทใด แล้วก็จ่ายตามราคาจริงที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนกำหนด อีกทีหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสภาฯ ถ้าข้อมูลไม่ครบถ้วนก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

ส่วนกรณี ที่มีกระแสข่าวระบุ ว่า มีบริษัทจากอินเดีย เสนอให้เราซื้อวัคซีน รวมถึงไทยปฏิเสธซื้อวัคซีน ยืนยันว่า กระแสข่าวดังกล่าวเป็นข่าวในโซเชียล ซึ่งเป็นข่าวเท็จ และผู้โพสต์ ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยความจริง คือ มีบริษัทจากอินเดีย เสนอความร่วมมือในการวิจัย กับอีกบริษัทหนึ่ง เสนอเข้ามาขอวิจัย ร่วมกันเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ไทยยังคงเดินหน้า เจรจาวัคซีน ร่วมกับ COVAX Facility โดยเมื่อตรวจสอบเนื้อหา จะรู้ว่า วัคซีนที่จะส่งมอบผ่าน COVAX Facility ส่วนมากเป็นของ แอสตร้าเซนเนก้า มีเพียงส่วนน้อย ที่เป็นของ Pfizer ที่เพิ่งเข้าร่วม เมื่อเดินมกราคมที่ผ่านมา จึงทำให้มองเห็นว่า ไทยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการ COVAX Facility เพื่อให้ได้วัคซีน ของแอสตร้าเซนเนก้า ซ้ำเดิม จากที่ไทยจะได้จากการผลิตของประเทศ ซึ่งทางแอสตร้าเซนเนก้า ก็ยืนยันว่าประสิทธิภาพการผลิตวัคซีนของไทยทัดเทียมกัน

โดย ผอ.สถาบันวัคซีน ระบุ ถึงเรื่องความเสี่ยง ที่ต้องฉีดให้กับบุคคลสูงอายุ ว่า ยึดตามหลักขององค์การอนามัยโลก ที่มีผลวิจัยยืนยันว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา เหมาะกับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งไทยยึดผลการวิจัยของหน่วยงานที่เป็นกลาง ที่ได้รับการยอมรับในสากล เท่านั้น

ด้าน นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมการฉีควัคซีน ให้แผนระยะที่ 2-3 ปรับรวมทำให้เร็วขึ้นได้ ระยะแรก วัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน จะมาภายในเดือน ก.พ. นี้ และจะฉีดให้กับประชาชนในประเทศไทยทันที

โดยกลุ่มแรก ที่ฉีดจะเป็นพื้นที่เสี่ยง คือ จังหวัดสมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร, ปริมณฑล อาชีพเสี่ยง เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ การวางแผนการฉีดวัคซีนให้บริการ 63 ล้านโดส ซึ่งจะทำการฉีด ในโรงพยาบาล จำนวน 1,000 แห่ง โดยฉีดแห่งละ 500 โดส เป็นเวลา 20 วันต่อเดือน เฉลี่ยต่อเดือน 10 ล้านโดส พร้อมกับยืนยันว่า ประเทศไทย ยังสามารถควบคุมโรคได้ดี และการแพร่เชื้อของโรคต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ก็ยังคงต้องการวัคซีน เพื่อให้เกิดการคุ้มกัน

 

“วิโรจน์” ถาม สธ. จัดหาวัคซีนบริษัทเดียว หากมีปัญหาจะมีวัคซีนอีก ทดแทน หรือไม่ ขอ ปชช. ติดตามการจัดหาอย่างใกล้ชิด

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงโต้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้แจง เรื่องการจัดหาวัคซีน หลังเข้าร่วมรับฟัง การแถลงข่าว ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ที่อธิบายขีดความสามารถ ในการจัดหาวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน โดยมองว่า การอภิปรายในเรื่องนี้ เป็นที่มาของการสร้างความเข้าใจให้ประชาชน

แต่หากฟังให้ดี จะพบว่า ในการแถลงใช้คำว่า 10 ล้านโดสต่อเดือนถ้ามีวัคซีนเพียงพอ จึงต้องจับตาว่า การจัดหาวัคซีน จะทันกับความต้องการหรือไม่ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่ามั่นใจได้อย่างไร ว่าการใช้วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ไม่มีปัญหา เพราะในหลายประเทศยังพบปัญหา เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดใหม่ ซึ่งตนยังไม่ได้คำตอบในประเด็นนี้

พร้อมตั้งคำถามว่า หากการจัดหาวัคซีนของบริษทแอสตร้าเซเนก้า ล่าช้า หรือมีปัญหาเกิดขึ้น จะมีวัคซีนอื่นทดแทนหรือไม่ และขอตั้งข้อสังเกตว่าในการแถลง ยังมีการเอาหนังสือที่แอสตร้าเซเนก้า ร่วมลงทุนกับไทยมาแสดง แต่ในเอกสารลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เท่ากับเพิ่งทำก่อนอภิปรายเพียง 1 วัน ทั้งที่ควรมีก่อนล่วงหน้า จึงควรชี้แจงไทม์ไลน์อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังไม่ได้รับคำชี้แจงว่ามีการแต่งตั้งกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลไปร่วมเจรจาในการทำสัญญาสั่งซื้อหรือไม่

ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามการจัดหาวัคซีน ว่าจะเป็นตามแผนหรือไม่ รวมทั้งกรณีโคแวกซ์ ว่า จะมีการเจรจาหรือไม่ ซึ่งการเข้าร่วมโคแวกซ์  ไม่ได้มีปัญหาที่วิธีการได้มาแต่เป็นการกระจายความเสี่ยง ในการจัดหาวัคซีน และสร้างความมั่นใจว่าจะได้วัคซีนแน่นอน

ทั้งนี้ ผลที่ออกมาจะพิสูจน์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่กระจายความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. และนายอนุทิน

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube