กรมชลประทาน ร่วมบูรณาการวางแผนพัฒนาอนุรักษ์ และฟื้นฟูหนองหาร ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงานพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูหนองหาร และการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดสกลนคร พร้อมร่วมกิจกรรมจิตอาสากำจัดผักตบชวาและวัชพืชในหนองหาร ณ ดอนลังกา อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หนองหาร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ ของจังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ประมาณ 77,016 ไร่ ความจุ 266 ล้าน ลบ.ม.โดยจะรับน้ำจากลุ่มน้ำพุงและลุ่มน้ำหนองหาร เฉลี่ย 790 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี การบริหารจัดการน้ำจะใช้การเปิดปิดประตูระบายน้ำในลุ่มน้ำให้สอดรับกันตั้งแต่ต้นน้ำ(เขื่อนน้ำพุง) กลางน้ำ(หนองหาร) และปลายน้ำ(ลำน้ำก่ำ) โดยมีประตูระบายน้ำ 5 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำสุรัสวดี ประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง ประตูระบายน้ำบ้านนาขามประตูระบายน้ำบ้านนาคู่ และประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิตร ปัจจุบันประสบปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝนบริเวณที่ราบตอนล่างของหนองหาร และปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำพุงมีไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง
กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุง ก่อนไหลลงหนองหารได้ถึงร้อยละ55 ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมได้ 10,857 ครัวเรือน 33 หมู่บ้าน ทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่ลำน้ำพุงและลำน้ำก่ำ ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสหกรรม พื้นที่รับประโยชน์กว่า 78,358 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ของ อ.โคกศรีสุวรรณ จ.สกลนคร ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงท้ายน้ำ ด้วยการเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักในช่วงต้นน้ำ พร้อมจัดจราจรน้ำและวางแผนการส่งน้ำให้สอดคล้องก่อนการระบายลงสู่หนองหาร ช่วงกลางน้ำเพิ่มความจุหนองหารให้มีช่องว่างในการเก็บน้ำส่วนเกินเพิ่มขึ้นช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝน ช่วงปลายน้ำจะทำการขยายปรับปรุงพนังกั้นน้ำก่ำให้สามารถรองรับการระบายน้ำจากหนองหารได้เพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักในช่วงต้นน้ำก่อนไหลลงสู่ลำน้ำก่ำ วางแผนการส่งน้ำให้สอดคล้องก่อนการระบายลงสู่ลำน้ำก่ำและลำน้ำโขงต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news