เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก คู่มืออารยสถาปัตย์ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล
ในปัจจุบันสังคมไทยมีคนพิการและผู้สูงอายุอยู่จำนวนไม่น้อย ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุจำนวนคนพิการมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยมีอยู่ราว 11 ล้านคน
อย่างไรก็ตามจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นทางลาด ราวจับ ห้องน้ำ และที่จอดรถ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่สามารถไปสถานที่ต่างๆ ได้เหมือนกับคนทั่วไป รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อ สสส.ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ณ วัดเจดีย์และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาสู่เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์อย่างเป็นรูปธรรม
“นางภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า สสส. ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของทุกคน โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุ เราสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสถานที่ได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะวัดหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งถ้าคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้ามาร่วมท่องเที่ยวกับคนทั่วไปได้ ตรงนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน ดังนั้น สสส. จึงได้สนับสนุนให้ความรู้เรื่องการออกแบบและปรับปรุงสภาพแวดล้อม บ้านวัด พื้นที่สาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยว ให้เกิดการเข้าถึงที่สะดวกแก่คนทุกกลุ่มทุกสภาพร่างกาย
จากการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวในครั้งนี้ นางภรณี บอกว่า จ.นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ที่ถูกออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ จุดประกายแนวคิดเมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์อีก 1 แห่งทางภาคใต้ได้เป็นอย่างดี สำหรับวัดเจดีย์แห่งนี้พบว่า มีสิ่งคอยอำนวยความสะดวกคนพิการเป็นอย่างดี เช่น ทำทางลาดให้สามารถเข้ามาได้ถึงภายในพระอุโบสถ มีลิฟต์ มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ มีป้ายบอกทาง ราวจับ มีประตูบานเลื่อน เป็นต้น
“สิ่งอำนวยความสะดวกพวกนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำยาก ทาง สสส. ก็จะร่วมกับเครือข่ายผู้สูงอายุและผู้พิการ ร่วมกันสำรวจว่าจุดไหนที่ยังขาดและจุดไหนที่ยังไม่มี เราก็จะทำความเข้าใจกับเจ้าของสถานที่ เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เช่นเดียวกับวัดเจดีย์ ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ทำตามได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน” นางภรณี กล่าว
ด้าน “นายกฤษณะ ละไล” ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล บอกว่า อารยสถาปัตย์ไม่ใช่แค่ออกแบบมาอำนวยความสะดวกให้เฉพาะผู้พิการเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์เพื่อทุกคน เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ คนไข้พักฟื้น คนนั่งรถวีลแชร์ ขณะเดียวกันปัจจุบันสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งก็มีโอกาสได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวก จากการออกแบบด้วยอารยสถาปัตย์เช่นกัน
“สำหรับวัดเจดีย์ และวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช จากการสำรวจค่อนข้างน่าพอใจมาก เพราะได้ให้ความสำคัญกับคนพิการและพัฒนาจนเป็น “เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์” โดยมีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมาตรฐานสากล ทุกคนใช้ได้ทุกวัยใช้ดี สะดวกทันสมัยและปลอดภัย พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ให้เข้ามาใช้สถานที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน” นายกฤษณะ กล่าว
สำหรับแนวคิดการออกแบบอารยสถาปัตย์ เพื่อรองรับสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน ของคนทุกกลุ่มวัยและทุกสภาพร่างกาย ประกอบด้วย
1. Convenience สะดวก
2. Safety ปลอดภัย
3. Modernization ทันยุค ทันสมัย
4. Fairness เป็นธรรม
5. Inclusivity เชื่อมโยงทั่วถึง
6. Equity เท่าเทียม
7. Easy to use ใช้งานง่าย
8. Flexibility ยืดหยุ่น
9. International standard มาตรฐานสากล
ขณะที่ “นายสมชาย วาทีรักษ์” ตัวแทนคนพิการที่นั่งรถเข็น เล่าว่า เมื่อก่อนอยู่แต่บ้านไม่ค่อยได้ออกไปไหน เพราะขาดสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีทางลาดหรือห้องน้ำสำหรับคนพิการ แต่พอมีอารยสถาปัตย์ ก็ทำให้คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถออกไปเที่ยวกับครอบครัวได้ อย่างไรก็ตามอยากจะให้เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอ เพื่อให้คนพิการสามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง
อารยสถาปัตย์ทำให้อาคารสถานที่ต่างๆ มีความสะดวกสบาย ง่ายต่อการเข้าถึงสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ สสส. ขอสนับสนุนการออกแบบที่เอื้อให้คนทุกคน สามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด คู่มืออารยสถาปัตย์ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ได้ที่…http://ssss.network/bam30