สธ.ชี้โควิดสถานบันเทิงระบาดซ้ำ-คลัสเตอร์ทองหล่อ13ราย
สธ. พบ สถานบันเทิง แพร่ โควิด19 อีกรอบ คลัสเตอร์ทองหล่อ 13 ราย นครปฐม 6 ราย และปทุมธานี 12 ราย เตือนผู้ชอบเที่ยวผับบาร์ เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์โรค โควิด19 ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ จาก 5 เหตุการณ์
โดยเฉพาะสถานบริการ ผับบาร์ ร้านอาหาร พบผู้ติดเชื้อที่มีไทม์ไลน์ ไปรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับเพื่อน หรือครอบครัว ในย่านพระราม 9 และทองหล่อ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี
อาทิ กรณีนักศึกษา ที่เชื่อมโยง สถานบันเทิง 3 แห่ง ในปทุมธานี และ กทม. โดยมีผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ 12 ราย เป็นนักศึกษา 9 ราย และมีการ นำเชื้อไปติดคนในครอบครัว, กรณีเชื่อมโยงสถานบันเทิง จ.นครปฐม มีผู้ติดเชื้อ 6 ราย ได้แก่ นักร้อง 3 ราย นักศึกษา 1 ราย พนักงานบริษัท 1 ราย และติดคนในครอบครัว 1 ราย
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า กรณีเชื่อมโยงสถานบันเทิง ย่านทองหล่อ มีผู้ติดเชื้อ 13 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่งมีผู้ติดเชื้อ 4 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นชายไทย อายุ 24 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ไปเที่ยวร่วมกับเพื่อน ซึ่งต่อมาตรวจพบเชื้อเช่นกัน ยังรอติดตามผลการตรวจเพื่อนอีก 3 คน
ทีมสอบสวนโรค จึงไปตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน สถานที่เสี่ยงและผู้สัมผัส ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 ราย โดยจำนวนนี้ 1 ราย ให้ประวัติว่านอกจากไปเที่ยวย่านทองหล่อ แล้วยังไปเที่ยวต่อย่านรัชดา และพระราม 9 ด้วย กลุ่มที่สองมีผู้ติดเชื้อ 9 ราย
โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายอายุ 37 ปี จากการสอบสวน พบลูกชาย ติดเชื้อ 1 ราย ผู้ที่พูดคุยใกล้ชิด 1 ราย คนที่ทำงาน 4 ราย โดยจำนวนนี้ 1 ราย นำเชื้อไปติดแฟน และแฟนนำเชื้อไปติดเพื่อน ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน อีกทอดหนึ่ง จึงเป็นการติดเชื้อต่อถึง 3 รุ่น
ทั้งนี้ สถานบันเทิงมีความเสี่ยงสูง ในการแพร่ระบาดของโรค ปัจจัยเสี่ยง คือ การคลุกคลีใกล้ชิดกัน พนักงานไม่สวมหน้ากาก พูดคุยเสียงดัง ขณะรับประทานอาหาร และดื่มเครื่องดื่มแก้วเดียวกัน ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการ และประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ศบค.แจง ผช.เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์มรณภาพ ยันสังเกตอาการเบื้องต้นหลังฉีดวัคซีนไม่มีปัญหา ต้องรอผลตรวจ รพ.ตำรวจ ยันเดินหน้าฉีดต่อ ยังห่วงสถานบันเทิง-ตลาดสด
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ชี้แจง ถึงกรณีที่ พระมรณภาพ ซึ่งพระที่มรณภาพรูปนี้ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสัมพันธวงศ์ หลังได้รับการฉีดวัคซีน ว่า ผู้ช่วยเจ้าอาวาสนั้น อายุ 71 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน และความดันสูง เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ฉีดวัคซีน และมีการสังเกต อาการ 30 นาที ซึ่งไม่พบว่ามีปัญหาอะไร
จากนั้นเสียชีวิตในวันต่อมา โดยยังต้องรอผลพิสูจน์จากทางโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งต้องให้เวลาในการตรวจสอบ ซึ่งจากการฉีดวัคซีนมาทั้งหมด พบยืนยันว่า ส่วนใหญ่มีอาการที่ไม่มีความรุนแรง และมีเพียง 4 คน ที่มีอาการรุนแรง และอาการหายแล้ว หลังจากฉีดยาแก้แพ้ ส่วนรายที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ก็มีโรคประจำตัว ซึ่งจากนี้ยังคงต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนต่อไป
โดย นายแพทย์ทวีศิลป์ เน้นย้ำถึงการลดวันกักตัว ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่งและสอง และต้องนับไป 14 วัน จะเหลือวันกักตัวเพียง 7 วันแต่ต้องเป็นวัคซีนที่อยู่ในข้อกำหนด เช่น วัคซีนซิโนแวค, ไฟเซอร์, แอสตราเซเนกา หรือ Johnson & Johnson เป็นต้น
ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครบ 2 เข็มหรือยังไม่ได้รับวัคซีนจะต้องกักตัว 10 วัน และประเทศที่มีการสงสัย ว่า จะมีการติดเชื้อกลายพันธุ์ ยังคงต้องกักตัว 14 วัน เช่น เดินทางมาจากประเทศแอฟริกากลาง ใต้และตะวันออก หรือประเทศโมซัมบิก เพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ทาง ศบค. มีความเป็นห่วงเรื่องของ สถานบันเทิง ตลาดสด ซึ่งยังคงต้องดูแลอย่างดี
สธ.แถลงพระมรณภาพไม่โยงฉีดวัคซีนพบเส้นเลือดหัวใจตีบเบาหวาน
นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ แถลง กรณี พระครูสิริปัญญา เมธี อายุ 71 ปี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์มรณภาพ หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม และมรณภาพในวันที่ 1 เมษายน ว่า ได้รับรายงานผลการชันสูตรพลิกศพ จาก แพทย์นิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ อย่างไม่เป็นทางการ
ว่า พบมีเส้นเลือดหัวใจตีบ สันนิษฐานว่าอาจจะมีผลต่อการมรณภาพได้ ส่วนปัญหาลิ่มเลือดอุดตันจุดต่างๆ ไม่มี โดยสรุปวัคซีนที่ได้รับไม่ได้ทำให้มรณภาพ ส่วนสาเหตุรอผลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
นพ.ชำนิ กล่าวว่า สำหรับ พระครูสิริปัญญา เมธี เป็นคนไข้ของ รพ.สงฆ์ฯ มา 15 ปี เข้ารับการรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิต และไข้มันในเลือดสูง และได้ทำคลื่นหัวใจ เมื่อปี 2561 เมื่อปี 2562 เริ่มมีภาวะหัวใจโตผิดปกติ และได้รักษามาตลอด ก่อนจะ ขาดการรักษาไปเมื่อปี 2563 เพราะไปจำวัดอยู่ที่ต่างประเทศ
เมื่อกลับมายอมรับว่าช่วงที่อยู่ต่างประเทศไม่ค่อยได้ฉันยารักษาอาการ เบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือด ซึ่งการรักษาเบาหวานของท่าน ค่อยข้างควบคุมยากต้องใช้ยาฉีด
โดยเมื่อวันที่วันที่ 31 มีนาคม ได้รับการตรวจคัดกรอง ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ความดัดปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จึงได้รับการฉีดวัคฉีดวัคซีน ในเวลา 10.04 น. เมื่อครบเวลาสังเกตอาการ 30 นาที เมื่อ 11.10 น. ยังฉันอาหารได้ปกติ ก่อนจะเดินทางกลับไปที่วัดสัมพันธวงศ์ และพบว่า วันรุ่งขึ้น (1 เมษายน) ได้มรณภาพ ตามที่เป็นข่าว
สำหรับ การฉีดวัคซีน ให้กับพระภิกษุสงฆ์ ใน กทม. ได้รับการจัดสรรวัคซีนครั้งละ 500 โดส รวมแล้ว 1,000 โดส เริ่มฉีดสัปดาห์ที่แล้วจำนวน 200 โดส ที่ รพ.สงฆ์ ฯ จากนั้น ได้ทำการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับพระสงฆ์
โดย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นวัดแรก ที่เริ่มฉีด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยทำการฉีดไปแล้ว จำนวน 412 รูป มีอาการแพ้ วัคซีน 2 รูป โดยมีลักษณะเป็นผื่น และบางส่วนมีอาการ อ่อนเพลีย เป็นไข้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news