สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลัง ก.ล.ต.-ภาครัฐ ช่วยเหลือผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอีไทย เร่งให้ความรู้ 4 เครื่องมือระดมทุนเพื่อผู้ประกอบการ เสริมแกร่งธุรกิจไทย สร้าง Ecosystem ให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยก้าวสู่ฮับระดับภูมิภาค
เมื่อเร็วๆนี้ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาในโครงการ DCT Digital Future talks ผ่านแพลทฟอร์ม Clubhouse โดยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ปลดล็อก Crowdfunding, ESOP และ Convertible Note เพื่อ Digital Startups ฟังตรงจาก ก.ล.ต.” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี หลังจากก.ล.ต. ได้ออกประกาศกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับครื่องมือในการช่วยระดมทุนเพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงช่องทางแหล่งเงินทุนได้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์2 (ก.ล.ต.) ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพชั้นนำ อาทิ นายรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวคิว(ประเทศไทย) จำกัด และนายภีม เพชรเกตุ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท PEAK (PeakAccount.com)
ทั้งนี้ ในงานเสวนา ตัวแทนจาก ก.ล.ต. ได้อธิบายถึงรายละเอียดและหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นช่องทางในการระดมทุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับสภาดิจิทัลฯ และตัวแทนสตาร์ทอัพถึงรูปแบบการระดมทุนต่างๆในตลาดทุนที่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจอย่างมาก
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ตั้งแต่สร้างรายได้ สร้างงาน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและบริการใหม่ๆซึ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้นหลังจาก ก.ล.ต.ได้ออกประกาศไฟเขียวกฎเกณฑ์การระดมทุนในตลาดทุนเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจมาได้ระยะหนึ่ง แต่อาจมีผู้ประกอบการที่ยังไม่ทราบรายละเอียดและขั้นตอนการใช้ประโยชน์ในเครื่องมือเหล่านี้ ส่งผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อย และเป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจ ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีของไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวันนี้ไทยยังคงเป็นรองประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กร ที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลให้ประเทศ จะต้องเร่งเสริมความรู้ความเข้าใจและช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสภาดิจิทัลฯต้องการสร้าง Ecosystem ของธุรกิจสตาร์ทอัพให้เข้มแข็งเพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Regional Hub ด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน
ดร.อธิป กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ ได้พยายามผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการเข้าใจถึงเครื่องมือระดมทุนที่สำคัญ 4 เรื่อง ที่ก.ล.ต.ออกกฎเกณฑ์มาเพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในการสร้างแหล่งเงินทุนเพื่อมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ประกอบด้วย 1.Crowdfunding ช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้ในรูปแบบของหุ้นหรือหุ้นกู้ ผ่าน Funding Portal ที่ได้รับการรับรองโดย ก.ล.ต. 2.ESOP ระบบการจัดสรรหุ้นพนักงานบริษัท เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ดี มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจอย่างมาก เป็นการสร้างความเป็นเจ้าของธุรกิจให้แก่พนักงาน 3.Convertible Note เครื่องมือที่จะช่วยสร้างความคล่องตัวในการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน แปลงหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ 4.Capital Gains Tax การปลดล็อกภาษีเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่งเสริมให้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น
ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ กำลังเร่งดำเนินการจัดทำคู่มือแนะนำรูปแบบเอกสารสัญญาและเอกสารประกอบต่างๆในการขอยื่นใช้เครื่องมือระดมทุนรูปแบบต่างๆเพื่อช่วยลดต้นทุนภาระแก่ผู้ประกอบการ โดยไม่จำเป็นต้องว่าจ้างนักกฎหมายในการจัดทำเอกสารประกอบต่างๆ รวมทั้งจับมือกับ ก.ล.ต.เร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และเผยแพร่ขั้นตอนต่างๆพร้อมการเตรียมเอกสารประกอบที่ใช้ในการดำเนินการ เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยในการลงทุน ตลอดจนสามารถเติบโตเพื่อแข่งขันได้ในระดับโลกต่อไป นอกจากนี้ในอนาคตสภาดิจิทัลฯจะหารือร่วมกับกรมสรรพากรในการผลักดันเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆที่จะช่วยให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นอีก
ด้านมุมมองจากธุรกิจสตาร์ทอัพ นายรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รูปแบบเครื่องมือระดมทุนที่ ก.ล.ต.และภาครัฐได้พยายามผลักดันออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการถือเป็นกลไกที่ดี โดยธุรกิจของตนได้ใช้รูปแบบการระดมทุน Convertible Note แล้ว ซึ่งการปลดล็อกเครื่องมือระดมทุนต่างๆออกมาจะเป็นตัวช่วยสำคญให้ธุรกิจสตาร์ทอัพได้พัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตจนครบวงจรได้ในอนาคต นอกจากนี้เครื่องมือระดมทุนเหล่านี้ยังช่วยดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น ทำให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพมองเห็นแนวทางเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพได้ชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่นายภีม เพชรเกตุ Founder & CEO บริษัท PEAK ผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชีออนไลน์ PeakAccount.com กล่าวว่า งานสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ถึง 4 เครื่องมือระดมทุนสำคัญทำให้ได้เรียนรู้ถึงเครื่องมือดีๆหลายอย่างที่ธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีอาจยังไม่มีโอกาสได้ใช้ อาทิ รูปแบบ ESOP ซึ่งมีผลต่อสตาร์ทอัพอย่างมาก เพราะเมื่อสตาร์ทอัพไม่ได้มีเงินลงทุนมากในการจ้างบุคลากรที่มีศักยภาพ แต่รูปแบบนี้เอื้อให้สามารถชักชวนคนมีความสามารถมาทำงานร่วมกันได้โดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหุ้น พร้อมทั้งสร้างการเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ดีต่อกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news